พระพิฆเณศ
รูปพระพิฆเนศ
คลิกที่นี่เพื่อกลับไปหน้าแรกศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู ประเทศอินเดีย พระอิศวร ท้าวมหาพรหม พระวิษณุ พระนารายณ์ พระอุมาเทวี


ความลับของนางระบำหน้าท้อง
(ที่เกี่ยวข้องกับพระศิวะนาฏราช)

บทความจาก นิตยสารสารคดี

Bally Dancing

คุณยายในพุงฉัน
ความลับของนางระบำหน้าท้อง

BELLY DANCING ระบำหน้าท้องเป็นการเต้นรำที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง มีรากสืบสาวได้ถึง ๖,๐๐๐ ปีในดินแดนแถบอียิปต์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สัมพันธ์กับวัฒนธรรมบูชาพระแม่ผู้เป็นแหล่งที่มาของพลังชีวิต และมีพิธีกรรมเกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์ เอื้อให้การคลอดลูกเป็นไปโดยสวัสดิภาพ แต่เดิมจึงเป็นการร่ายรำที่เน้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อท้องและสะโพก ช่วยให้นางรำมีร่างกายแข็งแรง

ชุดระบำหน้าท้องมีมากมายหลายแบบ ที่เห็นในภาพเป็นชุดสไตล์ “คาบาเรต์” ของอียิปต์ซึ่งมีพัฒนาการมาจากหนังฮอลลีวูดยุคแรกๆ อย่างไรก็ตาม ชุดทุกสไตล์มักจะมีองค์ประกอบหนึ่งที่เหมือนกัน ได้แก่ การเน้นสะโพก ซึ่งอาจแต่งด้วยแถบผ้าสี ลูกปัด หรือเหรียญโลหะเย็บติดเป็นแถว เวลาส่ายจะเกิดเสียงดังกรุ๊งกริ๊งเข้ากับเสียงดนตรี บางคนเชื่อว่าแถบผ้าติดเหรียญนี้เป็นวิธีเก็บสตางค์ไว้กับตัวของหญิงนางรำ เผ่ายิปซีเร่ร่อนระหว่างเดินทางเต้นรำหาเงิน ปัจจุบันกลายเป็นเอกลักษณ์ของระบำหน้าท้อง

VEIL ผ้าคลุมของผู้หญิงในดินแดนอาหรับและเมดิเตอร์เรเนียน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าศาสนาคริสต์และอิสลาม มีบทบาทเกี่ยวพันกับความศักดิ์สิทธิ์ ผ้าคลุมของผู้หญิงในดินแดนอาหรับและเมดิเตอร์เรเนียน มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าศาสนาคริสต์และอิสลาม มีบทบาทเกี่ยวพันกับความศักดิ์สิทธิ์และปกป้องพลังสร้างสรรค์ของพระแม่ เชื่อกันว่าเดิมเป็นเครื่องแต่งกายของนักบวชและหญิงสูงศักดิ์ แต่ถ้ามองในมุมของสภาพแวดล้อม ผ้าคลุมเป็นสิ่งจำเป็นในพื้นที่แดดจ้า ฝุ่นคลุ้ง เดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อนของถิ่นทะเลทราย ชนเผ่าต่างๆ จึงห่มผ้าคลุมเป็นปรกติ และสามารถดึงออกมาใช้เต้นรำในยามรื่นเริง

ตำนานการใช้ผ้าคลุมประกอบระบำที่โด่งดังที่สุด หนีไม่พ้นการเต้นรำด้วยผ้าเจ็ดผืนของนางซาโลมที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล จนปัจจุบันนี้ นักเต้นรำระบำหน้าท้องก็ยังคงใช้ผ้าคลุมประกอบการร่ายรำ เพื่อสร้างบรรยากาศลึกลับและอารมณ์พลิ้วไหว

Isis Wings จากรำ ของชนเผ่ายิปซีในแอฟริกาเหนือ ระบำหน้าท้องถูกปรับเอามาขึ้นเวทีแสดงในยุคสมัยที่นโปเลียนบุกอียิปต์ และพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ จนแพร่หลายเป็นโชว์ในยุโรปและอเมริกา จึงเกิดลีลาท่าเต้นใหม่ๆ จากเดิมที่เต้นขยับลำตัวอยู่กับที่ มาเป็นการเต้นย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ อย่างที่เรียกว่า travelling steps ตลอดจนคิดค้นองค์ประกอบระบำให้อลังการตื่นตายิ่งขึ้น เช่น การเต้นติด “ปีกพระแม่ไอซิส” เป็นนวัตกรรมโมเดิร์นจากเวทีลาสเวกัส 

SHIMMIES ระบำ หน้าท้องใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วน นักเต้นรำจึงต้องฝึกควบคุมกล้ามเนื้อ และข้อต่อแต่ละชิ้นให้สามารถเคลื่อน อย่างโดดๆ ได้เองด้วยความเร็วต่างๆ กัน จากเชื่องช้าจนเร็วขนาดมองไม่ทัน การส่ายไหล่รัวยิบ (shoulder shimmy) ในภาพ ก็เป็นลีลาพื้นฐานที่ใช้กันมากเกือบเท่าการส่ายสะโพก (hip shimmy)

ZILS นอก จากจะเป็นนักเต้นแล้ว นางรำระบำหน้าท้องยังเป็นนักดนตรีตีจังหวะอีกด้วย ตีไปเต้นไปพร้อมๆ กัน เครื่องเคาะจังหวะดั้งเดิมของนางรำยิปซีมีอยู่หลากหลาย ทั้งกลองมือและแทมบูรีน แต่ที่โดดเด่นที่สุดจนเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของระบำหน้าท้อง ได้แก่ ฉิ่งนิ้ว หรือ zils สวมมือข้างละคู่ โดยติดฝาฉิ่งไว้ที่ปลายนิ้วโป้งและนิ้วกลาง การร่ายแขนเล่นกรับมือในระบำฟลาเม็งโกก็พัฒนามาจากลีลาร่ายแขนเล่นฉิ่งนิ้ว ของระบำหน้าท้อง

“ณ จุดนิ่ง [กลางแกน] โลกหมุน มีรำ และมีแต่รำเพียงเท่านั้น”
ที.เอส. เอลิออต

แรงบันดาลใจ
เช่นเดียวกับเด็กรุ่นเดียวกัน ฉันเห็นระบำหน้าท้องครั้งแรกในชีวิตจากฉากหนังเจมส์ บอนด์ ยุค ฌอน คอนเนอรี่ ตอน “From Russia with Love” ลีลาสั่นสะโพก กระพือพุง ม้วนกล้ามเนื้อท้องให้พลิ้วเป็นคลื่นของนางรำในหนัง ยังติดตาอยู่จนทุกวันนี้ แต่ฉันเพิ่งมีอาการประมาณจอมยุทธบู๊ลิ้มเห็นสัจธรรมในหยดน้ำ เมื่อได้เห็นนิกม่าเต้นระบำหน้าท้องไม่นานมานี้เอง

นิกม่าเป็นสาวชาวสเปนที่มีรากวัยเด็กสัมพันธ์กับกลุ่มยิปซี เวลาพูดคุยเดินไปเดินมา เธอดูธรรมดามาก ไม่ได้สวยสะอะไรเป็นพิเศษ รูปร่างไม่เตะตา ไม่อ้วน ไม่ผอม พุงนุ่มๆ กลมๆ สะโพกติดจะบานเป็นลูกชมพู่นิดๆ ถ้าหันหลังก็ไม่มีผมรีจอยซ์สะบัดโชว์

แต่เธอจะแปลงกายทันทีที่เริ่มร่ายรำ

จากผู้หญิงธรรมดา เธอกลายเป็นนางอัปสราผุดขึ้นจากดอกบัวที่ค่อยๆ แย้มบานออกกลางแสงจันทร์ ลำตัวเลื้อยไหลได้เหมือนสายน้ำ ลำแขนโบกโบยได้เหมือนสาหร่ายทะเลเล่นคลื่น มือเหมือนกลีบดอกไม้กำลังคลี่บาน สะโพกส่ายสะบัดเหมือนปลาทอง และสีหน้าเผยแววของเทพ จนฉันหมดคลังคำศัพท์ลิเกที่จะสาธยายให้ฟังได้

เอาเป็นว่าในวินาทีนั้น เธอกลายเป็นทุกสิ่งที่เรารู้จักในจักรวาล ทั้งๆ ที่เธอใส่ชุดผ้ายืดธรรมดา เหงื่อซึมทั่วตัว และร่ายท่ารำที่ไม่ได้ยากซับซ้อนมากนัก เพื่อสอนนักเรียนระบำหน้าท้องระดับประถมอย่างพวกเรา

นิกม่ามีกล้ามเนื้อ ๖๕๐ ชิ้น๑ และใจหนึ่งดวงเหมือนเราทุกคน แต่ในช่วง ๔๐ กว่าปีที่เกิดมา ฉันกลับใช้อวัยวะและกล้ามเนื้ออยู่ไม่กี่ชิ้น ถ้าไม่นับหัวใจปั๊มเลือด ปอดหายใจ และตับกำจัดพิษที่ต้องใช้เพื่อดำรงชีวิตอะไรเทือกนั้น ตัวที่ฉันใช้มากที่สุดเห็นจะเป็นสมอง สองตา กับมือข้างขวา รองลงมาก็มือข้างซ้าย และสองขาสองตีน

ด้วยกล้ามเนื้อทั้ง ๖๕๐ ชิ้นตื่นมีกำลัง รู้ตัวทั่วพร้อม นิกม่าจึงรู้จักบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้

มันเป็นความรู้ที่ช่วยรักษาหญิงคลุ้มคลั่งชาวตูนิเซียที่ฉันเจอเมื่อปีก่อน เป็นความรู้ที่ผู้หญิงเคยรู้จักกันดี และถ่ายทอดต่อกันเรื่อยมาแต่โบราณ

แต่หญิงเก่งสาวมั่นยุคนี้แทบจะไม่รู้จักเลย

จุดเริ่มต้น
ถ้าเราพยายามสืบสาวประวัติความเป็นมาของระบำหน้าท้อง เราจะพบว่าที่มาที่ไปของมันออกจะคลุมเครือ กว่าจะกลายมาเป็นฉากหนังเจมส์ บอนด์ (สำหรับคนรุ่นเก่า) หรือลีลาเต้นประกอบมิวสิกวิดีโอของชาคีร่าเผยแพร่ผ่านเอ็มทีวี (สำหรับเด็กรุ่นใหม่) หนังสือ ๒-๓ เล่ม ตลอดจนเว็บไซต์หลายเว็บที่อ่านมาก็แจกแจงไว้ไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่ามีต้นตอสัมพันธ์กับวัฒนธรรมเคารพพระแม่ ผู้เป็นตัวแทนแหล่งกำเนิดพลังชีวิตในธรรมชาติมาแต่โบราณ ก่อนยุคสมัยที่ผู้ชายขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือเพศหญิงทั้งในทางโลกและทางธรรม เมื่อราว ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปีก่อน มีหลักฐานจากรูปปั้นและภาพวาดบนผนังปรากฏกระจัดกระจายหลายแห่งในดินแดนแถบ แอฟริกาเหนือและทะเลอีเจียน-เมดิเตอร์เรเนียน ที่เก่าที่สุดเห็นจะเป็นรูปปั้นนางรำสวดมนต์จากสังคมก่อนประวัติศาสตร์ใน อียิปต์เมื่อ ๖,๐๐๐ ปีก่อน

กลุ่มที่ถือว่าเป็นผู้อนุรักษ์ระบำหน้าท้องให้สืบเนื่องต่อมาได้จนถึงทุก วันนี้ ไม่ได้สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมโลกในประวัติศาสตร์ ได้แก่ ชนเผ่ายิปซีเร่ร่อนหลายเผ่า ซึ่งยังคงวัฒนธรรมความเชื่อของตัวเองไว้ท่ามกลางการปักรากครองสังคมของศาสนา หลักอย่างคริสต์และอิสลาม เราไม่รู้ต้นตอที่มาของยิปซีเร่ร่อนเหล่านี้ แต่เชื่อว่ามีประวัติความเป็นมายาวนานไม่น้อย เช่น เผ่ากาวาซี (Ghawazi) ที่หลายคนเชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นในดินแดนอียิปต์นับแต่ยุคฟาโรห์ มีหลักฐานเป็นภาพนางรำบนผนังสุสานฝังศพพระเจ้าเน็บ อามอน แห่งราชวงศ์ที่ ๑๘ (ช่วงราว ๓,๕๐๐ ปีก่อน) ปรากฏอยู่

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พวกยิปซีเผ่าต่างๆ แต่เดิมมาจากอินเดียตอนเหนือ แล้วต่อมาได้อพยพมาทางตะวันตก สู่อัฟกานิสถานและเปอร์เซีย จากนั้นก็แตกออกเป็น ๒ สาย พวกหนึ่งเดินทางต่อไปทางตุรกีและยุโรป อีกพวกลงใต้เลาะตามชายฝั่ง สู่อียิปต์และทะเลทรายซาฮารา การเดินทางของยิปซีทำให้ระบำหน้าท้องแพร่หลายและพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็น ศิลปะโดดเด่นหลายสไตล์ในดินแดนอาหรับและแอฟริกาเหนือ เป็นรากของระบำฟลาเม็งโกของสเปน และมีอิทธิพลต่อนาฏศิลป์อินเดีย

แต่สำหรับ โรซินา-ฟอว์เซีย อัล-ราวี (Rosina-Fawsia Al-Rawi) หญิงชาวเผ่าเบดูอินจากกรุงแบกแดด คุณครูระบำหน้าท้องผู้เขียนหนังสือเรื่อง ความลับของย่า (Grandmother’s Secret) จุดเริ่มต้นของระบำหน้าท้องเก่าแก่กว่าอารยธรรมเมโสโปเตเมียแห่งลุ่มน้ำไท กริสที่ไหลผ่านกรุงแบกแดดเสียอีก

เพราะจริงๆ แล้วเรายังมีประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งที่ฝังมาเรียบร้อยแล้วในตัวเรา จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งจารึกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไหน เพียงแต่เราต้องหัดมองเห็นมัน เพื่อจะเรียนรู้จากมันได้

ย่าของฟอว์เซียเลือกที่จะสอนประวัติศาสตร์แบบหลังนี้แก่หลานสาว ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

คุณย่าคนนี้เป็นครูโบราณที่ออกจะไม่ธรรมดาสำหรับวัฒนธรรมไหนก็ตาม บทเรียนเบื้องต้นของเธอแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น ในวันแรก เธอให้หลานรวบรวมสมาธิและจิตวิญญาณเขียนจุดหนึ่งจุดบนกระดานดำ เขียนแล้วเขียนอีกจนไม่เหลือความคิดอื่นใดในหัว นอกจากจุดจุดเดียวที่รวมพลังทั้งหมดของผู้เขียน “จุดนี้คือจุดเริ่มต้นและจุดจบ เป็นสะดือของโลก” ย่าอธิบาย


รูปปั้นยุคบูชาพระแม่ ก่อนอารยธรรมอียิปต์โบราณ อายุราว ๖,๐๐๐ ปี ไม่แน่ใจว่านางกำลังเต้นรำ หรือยกแขนสวดมนต์ หรือทั้งสองอย่าง
พอวันต่อมา ย่าก็ให้เอาจุดมาเรียงต่อกัน ๓ จุด กลายเป็นเส้นตรงแนวดิ่ง ซึ่งเป็นอักษรภาษาอารบิกตัวแรก เรียกว่าตัว อาลิฟ (........) คุณหลานเธอก็ต้องเขียนตัวอาลิฟนี้ซ้ำไปซ้ำมา เขียนแล้วเขียนอีกจนไม่เหลือความคิดอื่นใดในหัว นอกจากเส้นตรงของตัวอาลิฟ จนเธอเห็นแต่ตัวอาลิฟในทุกสิ่ง แขน ขา มือ เท้า หลังของเธอ ล้วนแต่ลดรูปเหลือเพียงเส้นแก่นตัวอาลิฟ เหมือนคนไม้ขีด

“อาลิฟเป็นเส้นเบื้องต้น เกิดจากความใฝ่ฝันของจุดที่จะเจริญเติบโตเกินขอบเขตดั้งเดิม ฉะนั้นไม่ว่าตัวอักษรอื่นๆ จะมีรูปร่างภายนอกหลากหลายแตกต่างกันไปอย่างไร แก่นหัวใจของทุกตัวอักษรก็คืออาลิฟ” ย่าอธิบาย

พอวันที่ ๓ คุณย่าก็ให้หลานวางแท่งชอล์ก แล้วให้วาดรูปในอากาศด้วยสะโพก เริ่มจากยืนอย่างสมดุลมั่นคงบนขาสองข้าง แล้วถ่ายน้ำหนักไปยังสะโพกขวา เหมือนมีสะดือเป็นแกนสายลูกตุ้มและสะโพกเป็นตัวลูกตุ้ม จนไปต่อไม่ได้แล้วก็เหวี่ยงกลับไปยังสะโพกซ้าย เมื่อเขียนรูปเส้นนอนออกโค้งนี้บนกระดานดำ แล้วเติมจุดลงไปข้างใต้ ก็ปรากฏเป็นตัวอักษรภาษาอารบิกตัวที่ ๒

“จุดคือการเริ่มต้น เป็นแหล่งกำเนิดของทุกสิ่ง” ย่าอธิบาย “จุดให้กำเนิดอักษรอื่นๆ ทั้งหมด จุดอยู่ข้างใต้และอาลิฟขนาบข้าง กลายเป็นคำ ........ อาบบ์ (พ่อ) ชื่อหนึ่งของพระเจ้า เมื่อหลานหมุนตัวหรือหมุนสะโพก หลานกำลังวาดรูปจุด คือ ที่มาดั้งเดิม จากรูปนี้ การเคลื่อนไหวอื่นๆ ถือกำเนิดขึ้น ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่งอกเงยมาจากจุดนี้ คือ สะดือในพุงหลาน”

คุณย่าบอกว่า สิ่งที่แกสอนนี้เป็นศิลปะโบราณ แต่ถึงแม้ว่าการหัดส่ายสะโพกจะเป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นของระบำหน้าท้อง หากคุณย่าได้ผสมผสานสารพัดบทเรียนลงไปพร้อมกัน ทั้งฟิสิกส์ (พลังทั้งมวลมีอยู่เพียบพร้อมแล้วในจุด หรืออนุภาคปรมาณู เป็นศักยภาพที่สามารถแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้) เรขาคณิต (เส้นมาจากจุดหลายจุดเรียงกัน) ภาษาอารบิก (ตัวอักษร ที่มา และความหมาย) วัฒนธรรม (ความหมายของการปฏิบัติ) และศาสนา (การแสดงตนของพระเจ้า) เพื่อให้หลานเข้าใจรากดั้งเดิมของสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว ให้ตระหนักถึงที่มาของชีวิต ซึ่งแม้จะอธิบายไม่ได้ชัดเจนเป็นคำพูด แต่ก็สัมผัสได้ เพราะคุณย่าขมวดบทเรียนทั้งหมดฝังเข้าไปในร่างกายของหลาน ดังนั้นไม่ว่าเธอจะทำอะไรอยู่ที่ไหน บทเรียนของย่าจะติดอยู่กับตัวตลอดเวลา ทุกๆ ครั้งที่เธอเคลื่อนไหว เธอก็รู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หรือแม้ในยามอยู่นิ่งๆ ก็เป็นความนิ่งที่ตื่นมีพลัง เป็นจุดที่ยังไม่ได้แสดงการเคลื่อนไหวออกมา นิ่งเฉยแต่ไม่เฉื่อยอยู่กลางสะดือ

คุณย่าเห็นสะดือเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดดั้งเดิมที่รวมของพลัง ตั้งแต่แรกเริ่มที่รับอาหารและพลังงานจากแม่ผ่านสายสะดือเมื่อตอนอยู่ในท้อง จนเมื่อคลอดออกมา ตัดสายสะดือออก เหลือเป็นร่องรอยหลุมวนๆ อยู่กลางตัว สะดือยังคงปรากฏตัวเป็นจุดสำคัญ ซึ่งในวัฒนธรรมโลกตะวันออกเกือบทุกวัฒนธรรมเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นบริเวณของศูนย์รวมพลังปราณ ญี่ปุ่นเรียกว่า “ฮารา” แปลว่า “สวนแห่งพลัง” จีนเรียกว่า “ตันเถียน (ล่าง)” และอินเดียเรียกว่า “มณีปุระจักระ” เป็นที่มาของการเคลื่อนไหวที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังภายใน หรือถ้ามองแบบฟิสิกส์ มันเป็นจุดกลางของแรงเหวี่ยง จึงมีพลังเหนือกว่าการเคลื่อนไหวด้วยพลังจากกล้ามเนื้อเฉยๆ ฉันเคยขอให้เพื่อนที่เป็นครูมวยจีน-กังฟู แสดงกำลังภายในให้ดู ทีแรก เขาเอามือผลักฉันด้วยพลังกล้ามเนื้อธรรมดา ฉันต้านได้ ไม่สะทกสะท้าน พอหนที่สอง เขาใช้เพียงปลายนิ้วผลักฉันด้วยกำลังภายในจากศูนย์พลังกลางตัวนี้ ปรากฏว่าตัวฉันปลิวไปค่อนสนาม - ของจริง ขอบอก ไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ

แต่แล้วคุณย่าของฟอว์เซียยังสอนให้เห็นอีกว่า พลังที่เปล่งออกมาจากจุดแสดงออกเป็นสองขั้ว เมื่อสะโพกถ่ายน้ำหนักไปทางหนึ่งมาก ที่สุดแล้วมันก็ต้องกลับมาอีกทาง จากขวาต้องกลับมาซ้าย และซ้ายก็ไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีขวา ศักยภาพของพลังทั้งสองขั้วจึงเป็นเมล็ดจำศีลในจุดอยู่แล้ว แต่ไหนแต่ไรมา

นี่เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานของธรรมชาติ ไม่ว่าเราจะมองจากแง่มุมไหนก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นและรู้จัก เกิดจากพลังต่างสองขั้ว ซึ่งเป็นพลังประเภทเดียวกัน มาจากแหล่งเดียวกัน แต่ต่างขั้วกัน จึงมุ่งปรับเข้าหากันเพื่อหาสมดุล หรือจะว่าเพื่อกลับสู่บ้านเดิมก็อาจจะได้ เป็นต้นว่า ลมเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีความกดอากาศที่ต่างกันระหว่างพื้นที่สองแห่ง ความต่างระหว่างความกดอากาศต่ำและความกดอากาศสูงทำให้อากาศเคลื่อนไหวเพื่อ ปรับเข้าสู่สมดุล ไม่ต่างจากน้ำที่ไหลได้เพราะถ่ายจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่แล้วความร้อนในอากาศซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำ ก็ทำให้น้ำระเหยโดยดึงเอาโมเลกุลน้ำขึ้นไปในอากาศ ไปเป็นความชื้นในอากาศ ไปเป็นเมฆ พอหนักมากๆ ก็ตกลงมาเป็นฝน เป็นน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำอีกครั้ง หรือถ้ามองในเชิงสังคม ดูประวัติศาสตร์อะไรก็ได้ที่ผ่านมา ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในความคิดและวัฒนธรรมในลักษณะเดียวกัน เมื่อความคิดเบนไปขั้วหนึ่งมากๆ ก็ส่งผลให้เบนกลับมาอีกขั้ว เป็นเช่นนี้เสมอมา

และถ้ามองเข้าไปในอะตอม ก็จะพบประจุไฟฟ้าบวกของโปรตอนกับประจุลบของอิเล็กตรอน ทำปฏิกิริยาต่อกันจนสั่นสะเทือนตลอดเวลา เจาะลึกเข้าไปอีกในอนุภาคภายในปรมาณู พลังสั่นสะเทือนนั้นยิ่งปรากฏชัดเจน เป็นพลังที่อยู่ภายในจุดของคุณย่าฟอว์เซีย

อะไรๆ จึงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีพลังต่างขั้ว - ไม่เกิดความเคลื่อนไหว ไม่เกิดกระแสไฟฟ้า ไม่เกิดชีวิต ไม่เกิดอะไรเลย

ปรัชญาเต๋าของจีนจึงใช้สัญลักษณ์หยินหยางสีขาวดำกอดเกี่ยวกันเป็นวง แทนความสัมพันธ์ระหว่างพลังต่างสองขั้ว เพื่ออธิบายสัจธรรมของธรรมชาติ และนักฟิสิกส์ชื่อดัง ฟริตจอฟ คาปร้า จึงตั้งชื่อหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ ของเขาว่า เต๋าแห่งฟิสิกส์ เพื่อประสานความเข้าใจระหว่างปรัชญาความคิดจากสังคมตะวันตกและสังคมตะวันออก หลากหลายวัฒนธรรม ทั้งเต๋าและฮินดู

คาปร้าเขียนว่า “อนุภาคภายในปรมาณูทุกๆ อัน ไม่เพียงแต่แสดงการเต้นของพลังงาน แต่มันคือการเต้นของพลังงานเองด้วย เป็นจังหวะสั่นสะเทือนยุบพองของกระบวนการก่อเกิดและทำลายอย่างไม่รู้จบ... ดังนั้น สำหรับนักฟิสิกส์ยุคโมเดิร์น การเต้นรำของพระศิวะจึงเป็นการเต้นรำของอนุภาคภายในปรมาณู เช่นเดียวกับตำนานการเกิดจักรวาลของฮินดู มันเป็นการร่ายรำต่อเนื่องของการเกิดและการดับที่พัวพันกันทั้งจักรวาล เป็นฐานของการดำรงอยู่ของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทั้งปวง”

ทุกวัฒนธรรมพยายามอธิบายที่มาของจักรวาลและชีวิต ปัญญาชนที่มีจริตการคิดเป็นนามธรรมจะเข้าใจเต๋าได้ไม่ยาก แต่ฮินดูใช้วิธีอธิบายด้วยนิทานแนวเมโลดรามาสุดขีด มีตัวละครเป็นสัญลักษณ์ จึงสามารถอธิบายรายละเอียดต่างๆ ได้มาก แฝงความเข้าใจไว้ได้หลายระดับ และฝังใจได้ง่ายกว่าการอธิบายแบบวิชาการฟิสิกส์

ฮินดูอธิบายการเกิดจักรวาลด้วยเรื่องราวของพระศิวะเต้นรำ พระศิวะเป็นที่สุดแห่งความบริสุทธิ์ เหนือคำบรรยาย เหนือจินตนาการ เป็นความว่างเปล่า ไร้กาลเวลา ไม่มีรูป ไม่มีพื้นที่ใดๆ แต่สามารถครองรูปแบบต่างๆ ได้ ดังนั้นธรรมชาติแท้จริงของพระศิวะจึงเป็นพระเจ้านามธรรม เช่นเดียวกับในศาสนาอิสลามที่ฟอว์เซียนับถือ คนสมัยใหม่บางครั้งเรียกพระศิวะว่าเป็นจิตสำนึกหรือสติสัมปชัญญะแห่งจักรวาล ในปางพระอรรธนารีศวร จะประกอบด้วยสองเพศ ซีกขวาเป็นพระศิวะเพศชาย ซีกซ้ายเป็นภารวตีเพศหญิง ซึ่งแม้จะแตกแยกออกมา แต่ก็ไม่อาจแยกจากกันได้ เพราะที่สุดแล้ว ภารวตีก็คือศิวะ และศิวะก็คือภารวตี ซึ่งมีอีกนามว่า “ศักติ” แปลว่าพลังจักรวาล หรือพลังชีวิต

ตามตำนาน จักรวาลของเราอุบัติขึ้นจากการร่ายรำของพระศิวะ ในรูปที่เรียกกันว่า “นาฏราช” ขณะที่มือกวัดแกว่ง เท้าก็ยกเหยียบ กระทืบทำลายอสูรอาภัสมาร ตัวแทนของอวิชชา ความเฉื่อยชาผู้มองไม่เห็นพลังต่างสองขั้ว พระศิวะตีกลองลั่นดัง “โอม” ก็บิ๊กแบงเลย

จากกำเนิดจักรวาล ก็ตามด้วยโลก และชีวิตบนโลก ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างปวงเทพกับเหล่าอสูรตกลงช่วยกันหาน้ำอมฤต โดยเอาเขามันทระมาตั้งบนหลังพระวิษณุที่แปลงตัวเป็นเต่าลงไปนอนอยู่ใต้ มหาสมุทร เอาพญานาคมาพันรอบภูเขา แล้วฝ่ายเทพกับอสูรก็จับหัวหางนาคไว้คนละข้าง ชักเย่อกัน เกิดเป็นพลังต่างสองขั้ว ปั่นเขามันทระให้หมุนกวนน้ำนมในมหาสมุทร เกิดความเคลื่อนไหว ความอุดมสมบูรณ์ จนถึงชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัวศักดิ์สิทธิ์ แพะรับบาป ด้วงกุดจี่ หนอนแมลงวัน กุหลาบแสนหอม หรือมนุษย์ตาดำๆ

ปราชญ์ทั่วโลกพยายามอธิบายถึงความสัมพันธ์ของพลังต่างขั้วที่ก่อให้เกิดสรรพ สิ่ง พอเข้าสู่สมดุลหรือสุกงอมเต็มที่ มันก็ดับ เพื่อให้เราเห็นสัจธรรมของอนิจจังในทุกสิ่ง แต่อย่างที่ว่าไว้ ๑๒ ย่อหน้าก่อน ความเจ๋งของคุณย่าฟอว์เซีย คือแกใช้ร่างกายเป็นตำราเรียน ทำให้บทเรียนนั้นติดอยู่กับตัวหลานตลอดเวลา

คิดดูสิว่าชีวิตเราจะสดใส กระปรี้กระเปร่า มีกำลังวังชาขนาดไหน ถ้าสามารถมีสติอย่างเป็นธรรมชาติอัตโนมัติกับทุกอิริยาบถ การเคลื่อนไหวหนึ่งเกิด แล้วดับ ส่งให้เกิดความเคลื่อนไหวอีกอันต่อไป จากซ้ายต่อไปขวา จากขึ้นเกิดเป็นลง จากร้อนเป็นเย็น จากฮือๆ เป็นฮาๆ โดยตระหนักรู้ว่ามันเกิดมาจากไหน ได้อย่างไร เหมือนตระหนักรู้ถึงธรรมชาติ ถึงพระเจ้าตลอดเวลา ฟอว์เซียเล่าถึงความรู้สึกวัยเด็กของเธอเมื่อคุณย่าสรุปบทเรียนนั้นจบลงว่า

“ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ว่าฉันอุ้มแหล่งกำเนิดของทุกสิ่งในตัวฉัน ฉันพิจารณาดูวงวนในสะดือตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความเคารพ การที่ฉันไปไหนมาไหนโดยมีพลังทั้งหมดนี้อยู่ในพุง ทำให้ฉันรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจ”

ร่ายอย่างพระจันทร์ รำอย่างพระอาทิตย์
เช่นเดียวกับที่ชาวฮินดูเห็นพระศิวะเต้นรำ ยอดอัจฉริยะ เลโอนาร์โด ดาวินชี ก็เห็นว่า “การเคลื่อนไหวคือต้นกำเนิดของทุกชีวิต” ในเมื่อเราเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวกับชีวิต และเรียกชุดการเคลื่อนไหวว่าเป็นการร่ายรำ จึงมีสำนวนพูดในแทบทุกภาษาที่เปรียบเทียบการดำเนินชีวิตเป็นการร่ายรำ ที่เราต้องเรียนรู้ลีลาเพื่อจะรำได้งาม

เพลงร้องในโบสถ์คริสต์เพลงหนึ่งยังเล่าถึงพระเยซูเชื้อเชิญให้ทุกคนเต้นรำ แม้ว่ามันจะเต้นยากเวลาที่มีซาตานเกาะถ่วงอยู่บนหลัง แต่จงเต้นไปเถิด พระเยซูจะเต้นนำ

“Dance then wherever you may be; I am the Lord of the Dance, said he; and I lead you all wherever you may be; for I am the Lord of the Dance, said he - เต้นรำเถิด ไม่ว่าเจ้าจะอยู่ที่ไหน ข้าคือเจ้าแห่งการร่ายรำ และข้าจะเต้นนำ ไม่ว่าเจ้าจะอยู่ที่ใด เพราะข้าคือเจ้าแห่งการร่ายรำ”

เมื่อการร่ายรำเป็นการแสดงออกของชีวิตที่เกิดจากความสัมพันธ์ของพลังต่าง ขั้ว การร่ายรำจึงเป็นการสื่อถึงพระเจ้าหรือธรรมชาติดั้งเดิมโดยตรง ไอน์สไตน์จึงบอกว่า “นักเต้นรำเป็นเสมือนนักกีฬาของพระเจ้า” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉันจะสามารถนึกภาพการเต้นหรือการรำได้หลายชุดที่ทำให้ฉันเห็นด้วยกับ ไอน์สไตน์ในฐานะคนดู แต่ในฐานะคนเต้น การร่ายรำที่เตือนสติฉันให้นึกถึงธรรมชาติของธรรมชาติมากที่สุด คือการเต้นระบำหน้าท้อง เพราะไวยากรณ์พื้นฐานของระบำหน้าท้องสรุปความสัมพันธ์ของพลังหยินและหยางได้ อย่างชัดเจน ฝังเข้าไปในเซลล์กล้ามเนื้อเรา

“การเคลื่อนไหวในระบำหน้าท้องแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ” นิกม่า ปรมาจารย์ระบำหน้าท้องอธิบาย “ได้แก่ การเคลื่อนไหวกลุ่มพระจันทร์ และการเคลื่อนไหวกลุ่มพระอาทิตย์”

การเคลื่อนไหวกลุ่มพระจันทร์ถ่ายทอดพลังเพศหญิง เป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นวงกลม นุ่มนวล อ่อนโอน แต่แข็งแกร่งด้วยความยืดหยุ่นของเส้นโค้ง ในขณะที่การเคลื่อนไหวกลุ่มพระอาทิตย์ถ่ายทอดพลังเพศชายในแนวเส้นตรง เป็นแรงพุ่ง ตึง คม เฉียบ ชัดเจน

ไม่ต่างจากภาษาคณิตศาสตร์ระบบเลขฐานสอง ที่ใช้ขีดตรงของเลขหนึ่ง - 1 และวงกลม - 0 ของศูนย์ อธิบายทุกสิ่งในจักรวาล แบบที่เห็นในหนัง The Matrix

เราสามารถเคลื่อนร่างกายแทบทุกส่วนตามแนวโค้งและแนวตรงในทิศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกตา คอ ไหล่ แขน มือ อก ท้อง สะโพก ในการเต้นระบำหน้าท้อง เราต้องเรียนรู้ฝึกฝนที่จะแยกส่วนกล้ามเนื้อแต่ละชิ้นให้เคลื่อนไหวได้ตาม ลำพัง โดยไม่ลากชิ้นอื่นให้เคลื่อนที่ไปด้วย อันนี้เป็นแค่เทคนิคพื้นฐาน พอขึ้น ป. ๒ ป. ๓ ก็ต้องหัดเคลื่อนกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยโดดๆ แบบนี้ให้เกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน แต่เป็นอิสระต่อกัน เป็นต้นว่า เคลื่อนไปรอบๆ ขณะที่หมุนสะโพกเป็นวงกลมเล็กสลับกับวงกลมใหญ่ และสั่นสะโพกขึ้นลงให้กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลาเหมือนการสั่นสะเทือนของอนุภาค ปรมาณู พร้อมกับโบกโบยแขนเป็นวงปิดเปิดในเวลาเดียวกัน เต้นกันประมาณพระศิวะสร้างจักรวาลเลยทีเดียว

ยากสุดๆ ขอบอก แต่ไม่เป็นไร ตอนนี้เราอยู่ ป. ๑ ยังหัดคัด ก. ไก่ ข. ไข่ ให้สวยงาม มาลองทำแบบฝึกหัดประจำวันกันดีกว่า

เริ่มต้นที่คอ เลื่อนไปทางขวา เลื่อนไปทางซ้าย - เลื่อนทั้งหัวให้ขนานกับพื้นนะจ๊ะ ไม่ใช่เลื่อนแค่คาง แล้วตัวอย่าเลื่อนตาม - เลื่อนไปข้างหน้า เลื่อนไปข้างหลัง แล้วลองหมุนเป็นวงกลมวนขวา แล้วเปลี่ยนมาวนซ้าย ต่อมาที่อก เคลื่อนแบบเดียวกับเมื่อตะกี้ - เคลื่อนเป็นเส้นตรง ขวา ซ้าย หน้า หลัง บน ล่าง เคลื่อนเป็นวงกลม วนขวา วนซ้าย หมุนในแนวตั้ง และหมุนในแนวนอน ต่อมาที่สะโพก...ฯลฯ

ไม่ง่ายเลยในทีแรก แต่พอเริ่มจับการเคลื่อนไหวพื้นฐานได้แล้ว เราจะเริ่มสัมผัสถึงรสชาติคุณสมบัติการเคลื่อนไหวของเพศพระจันทร์และ คุณสมบัติของเพศพระอาทิตย์ รับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงในกล้ามเนื้อ ซึ่งฉันก็อธิบายความรู้สึกตรงนี้ไม่ค่อยถูก เป็นต้นว่า เวลาที่ฉันเคลื่อนเป็นแนวตรง ในจังหวะ ตึง ที่ชัดเจน ฉันจะรู้สึกมีพลังแรง เปิดเผย ด้วยทิศทางและเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน เห็นเลยว่าเริ่มตรงไหนจบตรงไหน มาอย่างไรไปอย่างไร แต่พอฉันเคลื่อนเป็นวงโค้ง ความชัดจะเริ่มเบลอ ความก้าวร้าวละลายหายไปกับความนุ่มนวล ลื่นไหลกลมกลืนไม่เห็นต้นเห็นปลาย เป็นความรู้สึกลึบลับของแสงจันทร์

และเมื่อผสมการเคลื่อนไหวทั้งสองแบบ คือ เส้นตรงและเส้นโค้งเข้าด้วยกัน โดยให้เส้นโค้งเดินทางเป็นแนวไปข้างหน้า เราจะได้เส้นพลิ้วตวัดเป็นตัว S - เหมือนเส้นผ่ากลางสัญลักษณ์หยินหยาง

และเมื่อลากตัว S ซ้ำไปมา ก็จะได้เลขแปดอารบิก - 8

วางแนวนอนก็เป็นสัญลักษณ์ของอนันตภาพไม่รู้จบ

เช่นเดียวกับเส้นตรงและเส้นโค้ง เราสามารถวาดเลขแปดด้วยส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้ง 8 ตั้ง และ 8 นอน ในแนวราบและในแนวตะแคง วนซ้ายและวนขวา วนหน้าและวนหลัง วนขึ้นและวนลง วนไปและวนมา วนไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้จบ ตราบเท่าที่พลังหยินกับหยางยังคงอยู่ หยอกล้อ เอาเถิด ปฏิสัมพันธ์กันไม่จบสิ้น

และถ้าร้อยเรียง 8 หลายๆ ตัวต่อกัน เราจะได้เส้นยาวหยักขึ้นลงเป็นคลื่น ซึ่งเป็นวิถีเดินทางของพลังต่างๆ ที่เรารู้จักกันในโลก ไม่ว่าจะเป็นการไหลของน้ำ ของลม กระแสไฟฟ้า หรือการเลื้อยของงู

ฉันอดไม่ได้ที่จะรู้สึกทึ่งกับการออกแบบสื่อสัญลักษณ์ของคนโบราณ ยิ่งหัดร่ายลีลาเลขแปด ยิ่งรู้สึกว่าเครื่องหมายอนันตภาพจะเป็นรูปอื่นใดไม่ได้นอกจากรูป .....

ที่น่าประหลาดมหัศจรรย์คือ ความรู้สึกภายในเวลาวาดร่างกายเป็นรูป 8 ทั้งๆ ที่มันผสมผสานพลังทั้งหยินและหยาง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาคือความเป็นหญิงยิ่งกว่าความรู้สึกเวลาเคลื่อนเป็นวงกลม เฉยๆ มันเป็นหญิงที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รอบรู้มากขึ้น แกร่งกล้ามากขึ้น ยั่วยวนมากขึ้น ลึกลับ ลุ่มลึกมากขึ้น จึงซับซ้อนมากขึ้น ลื่นไหลลดเลี้ยวได้มากขึ้น แต่ก็สามารถปรับจังหวะลีลาให้แสดงเจตนาชัดเจนด้วยพลังแรงอย่างผู้ชายได้ด้วย นี่เป็นการเคลื่อนไหวของเจ้าแม่ที่ฉันไม่เคยเห็นในตัวเอง เพราะปรกติ นิสัยพื้นฐานฉันเป็นคนซื่อมาก ซื่อจนบางครั้งเหมือนไม่ค่อยมีกาลเทศะ (เซ่อ) แต่ยายเจ้าแม่ 8 ที่สิงอยู่ในตัวกลางสะดือแกไม่เป็นอย่างนั้น มิน่าล่ะ ฮินดูจึงจัดพลังทั้งจักรวาลให้เป็นเพศหญิง เป็นศักติ หรือภารวตี และอันที่จริง นิกม่าเองก็จัดการเคลื่อนไหวรูป 8 เป็นการเคลื่อนไหวแบบพระจันทร์ คือ เป็นพลังผู้หญิง แม้ว่ามันผสมผสานทั้งหยินและหยางเอาไว้ด้วยกันก็ตาม - เหมือนเครื่องหมายปุ่มเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นขีดตรงผ่าวงกลม

ที่น่าสนใจก็คือ วัฒนธรรมอียิปต์โบราณเก่าแก่เกือบ ๕,๐๐๐ ปี ใช้สัญลักษณ์ “อังค์” (ankh) รูปกากบาทมีหัว เป็นสื่อถึงพลังชีวิต ไม่มีใครรู้ชัดถึงที่มาของดีไซน์สัญลักษณ์นี้ แต่มันมีความหมายเดียวกับ “ศักติ” ของฮินดู ในปัจจุบัน สัญลักษณ์นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิงที่เราคุ้นกันทั่วไป

นักเรียนระบำหน้าท้องสิบกว่าคนพยายามส่ายสะโพกตามครูพร้อมๆ กันไปกับเสียงกลอง ดุ่ม ดุ่ม ต๊ะ-กะ-ต๊ะ ดุ่ม ต๊ะ-กะ-ต๊ะ-กะ เสียงหัวเราะปนเสียงกรุ๊งกริ๊งของเหรียญที่เย็บติดเป็นแถวบนผ้าพันรอบสะโพก สีต่างๆ คลอเคล้าไปกับลีลาการเคลื่อนไหวที่เก่าแก่กว่าอายุเราเอง ประสานใจผู้หญิงทั้งห้องโดยไม่ต้องดัดจริตพยายาม

แต่ถามจริงๆ เหอะ เวลาเอ่ยถึงระบำหน้าท้อง พวกคุณนึกถึงอะไร ?

ศิลปะนางซาโลม หรือศาสตร์หมอตำแย ?
คนนอกสังคมอาหรับมักจะโยงระบำหน้าท้องกับภาพนางสนมในฮาเร็ม ไม่ก็โชว์สั่นนมสะบัดตะโพกยั่วผู้ชายตามไนต์คลับ ประมาณโคโยตี้แขกขาว สำหรับคนที่คุ้นเคยประวัติศาสตร์ดินแดนไบเบิลดี ก็อาจนึกถึงนางซาโลมเต้นระบำเปลื้องผ้าคลุมเจ็ดชั้นเพื่อให้คิงเฮรอดหลงใหล ยอมตัดหัวจอห์นเดอะแบ็ปติสต์ อาจารย์ของพระเยซู หรือนึกถึงนางมาตะ ฮารี ยอดนางรำ สปายนกสองหัวแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๑

จะมองอย่างไร ระบำหน้าท้องก็ถูกจัดเข้ากล่องติดป้ายกิจกรรม “ผู้หญิงไม่ดี” ซึ่งวางไว้ตรงข้ามกล่อง “ผู้หญิงดี” อย่างช่วยไม่ได้เลย

แถมเมื่อค้นกูเกิลหาหนังสือระบำหน้าท้องจากบาร์นส์แอนด์โนเบิล ยังอุตส่าห์มีแนะนำหนังสือเพิ่มเติม “ลูกค้าที่สั่งซื้อระบำหน้าท้องเล่มนี้ ได้ซื้อหนังสือต่อไปนี้อีกด้วย : เซ็กซ์ ยาเมา และผงดูดโกโก้: แถลงการณ์ของวัฒนธรรมชั้นต่ำ, ทุกสิ่งที่ชั่วร้ายดีสำหรับคุณ: วัฒนธรรมพ็อปในวันนี้ช่วยให้คุณฉลาดขึ้นได้อย่างไร และ เทพนรกเฮลส์แองเจิลส์: เรื่องประหลาดน่าสะพรึงกลัว แม้ว่ารายการหนังสือจะแสดงถึงความสนใจในชีวิตและศิลปะข้างถนนแบบปัญญาชนที่ เห็นคุณค่าในวัฒนธรรมนอกหอศิลป์และโรงโอเปรา แต่ก็สะท้อนทัศนคติทั่วไปในสังคมอย่างชัดเจนว่าจัดระบำหน้าท้องไว้ที่หมวด ไหน

แต่สำหรับผู้หญิงอาหรับอย่างฟอว์เซีย ระบำหน้าท้องเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน มีบทบาทในพิธีกรรมที่สำคัญพอๆ กับการสวดมนต์

ฟอว์เซียติดตามย่าไปเยี่ยมญาติเยียนมิตรสหายตามบ้านต่างๆ ในกรุงแบกแดดมาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ เป็นการเข้าร่วมชุมนุมในหมู่สังคมผู้หญิง ซึ่งประกอบไปด้วยหญิงหลากรุ่นต่างวัย เข้ามาแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบ ข่าวสาร กอสซิป รวมทั้งปรึกษาหารือปัญหาทางเพศ ให้กำลังใจกันและกัน เป็นเวลาที่ผู้หญิงได้ปล่อยเนื้อปล่อยตัว นั่งแหกขาอ้าซ่า แหงนหน้าหัวเราะเอิ๊กๆ ลั่นฟ้าได้ตามสบาย

และเมื่อบรรยากาศชักเข้าที่ หญิงนางหนึ่งจะผุดลุกขึ้นมาร่ายรำ

คนอื่นๆ จะดูด้วยความชื่นชม ช่วงไหนเต้นได้มันถึงใจ คนดูจะเอามือป้องเหนือปากรัวลิ้นเสียงดัง ลลลลลล..... ช่วงไหนเย้ายวนลึกลับเหลือกิน คนดูจะพ่นลมผ่านไรฟันเหมือนเสียงงู ซซซซซซซ.....


นางมาตะ ฮารี สปายนกสองหัวแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ ชื่อเดิมว่า Margaretha Geertruida Zelle ศึกษารำศักดิ์สิทธิ์ของฮินดูจากวัดในเกาะชวา และพัฒนาลีลาร่ายรำม้วนลำตัว แสดงความเป็นหญิง ในลักษณะคล้ายคลึงกับระบำหน้า ท้อง เป็น “รำแห่งโอเรียนต์” ที่เขย่าปารีสและสังคมยุโรปในสมัยนั้นอย่างถล่มทลาย เธออธิบายการเต้นรำของเธอว่าเป็น “บทกวีอันศักดิ์สิทธิ์ โดยการเคลื่อนไหวแต่ละลีลาเป็นเสมือนคำที่ขีดเส้นใต้ไว้ด้วยดนตรี”
พอได้จังหวะ อีกนางก็จะลุกขึ้นมาเต้น เป็นการผลัดกันโชว์ บางทีจะเต้นคู่ประชันกัน และเมื่อเด็กเล็กๆ อย่างฟอว์เซียวิ่งเข้ามาเต้นด้วยเห็นสนุก ผู้ใหญ่ก็จะพากันเชียร์เต็มที่ ชอบอกชอบใจ

เด็กหญิงอาหรับทุกคนเลยระบำหน้าท้องเป็นโดยปริยาย

ดูเผินๆ เหมือนเป็นชุมนุมปาร์ตี้ รื่นเริงบันเทิงใจตามปรกติ แต่จริงๆ แล้วมันแฝงกระบวนการประคองชีวิตไว้อย่างแยบยล

พวกแม่ ยาย ย่าทั้งหลาย จะถือโอกาสนี้หมายตาสะใภ้ในอนาคต ในขณะที่ผู้หญิงรุ่นใหม่ได้ซึมซับสติปัญญาความรู้จากคนรุ่นก่อน ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากเด็กเป็นสาว จากสาวเป็นแม่ จากแม่เข้าสู่วัยทอง เพื่อกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ในวัยของนางเฒ่าทรงปัญญา

ตลอดการเดินทาง ระบำหน้าท้องช่วยผู้หญิงเหล่านี้เยียวยาอารมณ์ ปลดปล่อยความทุกข์อัดอั้นใจ คลายปัญหาใหญ่ให้เป็นเรื่องที่รับมือได้ โดยมีสังคมผู้หญิงทั้งยวงหนุนหลัง เป็นกำลังใจ และในวาระสำคัญๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแตกวัยสาวมีเลือดประจำเดือน แต่งงาน ออกลูก จนตาย ระบำหน้าท้องจะมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรม ในรูปแบบและมิติต่างกันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกใหม่ ใช้ทั้งในการถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อน และน้อมรับสภาวะใหม่โดยคนรุ่นต่อไป ว่ากันว่าการเต้นรำในหมู่ผู้หญิงก่อนส่งตัวในงานแต่งงาน เป็นการเต้นที่เซ็กซี่ที่สุด ประมาณสาธิตกามาสุตราแก่เจ้าสาว จากนั้นก็ถึงคราวเจ้าสาวเต้นให้เจ้าบ่าวดู แสดงเลือดเนื้อผุดผาดและหัวใจบานสะพรั่งของหญิงสาวแรกแย้ม แวดล้อมด้วยหมู่ผู้หญิงเป็นกำลังหนุนหลัง ขณะที่ในงานศพ หญิงผู้สูญเสียบุคคลที่รักจะเปิดใจให้รับรู้ถึงความปวดร้าวจากความสูญเสีย ถึงก้นบึ้งหัวใจ เธอร้องไห้เต็มที่ ขณะหมุนตัวเป็นเกลียวขึ้นลง ปลดปล่อยความปวดร้าวนั้นคืนกลับสู่ดิน ไปกับร่างของผู้เป็นที่รักผู้จากไป

แต่การเตรียมตัวที่สำคัญที่สุด จนเข้าใจกันว่าเป็นที่มาดั้งเดิมของระบำหน้าท้อง น่าจะเป็นการคลอดลูก

ทุกครั้งที่มีการคลอด ผู้หญิงต้องเอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงเป็นเดิมพัน เพื่อจะพาชีวิตใหม่ออกมาสู่โลก เป็นการบูชายัญโดยธรรมชาติ จนการคลอดลูกเป็นสาเหตุการตายของผู้หญิงที่สูงที่สุดในอดีต แม้การแพทย์ในปัจจุบันจะพัฒนาไปไกลจนสามารถออกลูกกันได้ปลอดภัยขึ้นมาก แต่ก็ยังป้องกันไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ ผู้หญิงก็ยังตายทั้งกลมกันอยู่ดี

ในสมัยก่อน ผู้หญิงจึงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์กันแต่เด็ก ฝึกฝนกล้ามเนื้อท้องกันก่อนลงสนามจริง ท่าที่สำคัญที่สุด คือการม้วนท้องให้เป็นคลื่น คล้ายกับที่เราเห็นโยคีริมแม่น้ำคงคาทำกันในหนังสารคดี ว่าตามทฤษฎี (เพราะคนเขียนยังทำไม่ได้) วิธีฝึกคือหัดขมิบกล้ามเนื้อตัวที่เราใช้กลั้นฉี่ หมอเรียกว่า เพอรีเนียม (perineum) เป็นกล้ามเนื้อระหว่างทวารหนักกับอวัยวะเพศ (ซึ่งบังเอิญมีรูปร่างเป็น .... สัญลักษณ์อนันตภาพ) จนแข็งแรงพอที่จะดึงกล้ามเนื้อตรงท้องน้อยเข้าไปจนเกือบติดหลัง ในขณะที่หายใจออกจนไล่ลมหมดท้อง แล้วจึงหายใจเข้า ปล่อยให้กล้ามเนื้อท้องส่วนบนตกลงมา จะดูเหมือนท้องม้วนตัวเป็นคลื่น ถ้าทำอย่างนี้ได้จะสบายไปหลายประการ เพราะนอกจากกล้ามเนื้อท้องจะแข็งแรง ออกลูกได้ง่าย ขับถ่ายได้สะดวกแล้ว เมื่อชราภาพไป ก็จะไม่กลายเป็นคนแก่ฉี่ราด แถมหลังส่วนล่างก็จะแข็งแรง

มีบันทึกนักเดินทางสมัยยุคฮิปปี้อยู่เรื่องหนึ่ง เล่าถึงการคลอดลูกในโมร็อกโก ปี ค.ศ. ๑๙๖๗ ผู้บันทึกเหตุการณ์ คือนางวาร์คา ดีนิคู ซึ่งปลอมตัวเป็นหญิงรับใช้ใบ้ ติดตามเพื่อนหญิงชาวโมร็อกโกเข้าไปร่วมพิธีกรรมคลอดลูกในหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองมาร์ราเคช เธอเล่าว่า

“...หญิงท้องแก่คนนั้นนั่งยองๆ คร่อมหลุมตื้นที่ขุดไว้กลางเต็นท์ ผู้หญิงคนอื่นๆ รายล้อมเธอเป็นวงกลมซ้อนกัน ๓ วง ร้องเพลงเบาๆ พลางม้วนท้องตัวเองไปด้วย และจะกระตุกดึงท้องน้อยเข้าไปแรงๆ เป็นพักๆ ในขณะเดียวกันพวกเธอก็จะเคลื่อนวงเต้นช้าๆ ตามเข็มนาฬิกาไปรอบๆ คนท้อง ตัวหญิงใกล้คลอดเองก็จะลุกขึ้นเต้นม้วนท้องลักษณะเดียวกันอยู่กับที่เป็น พักๆ ทีละ ๒-๓ นาที แล้วก็กลับลงไปนั่งยองๆ ตามเดิม นอกเหนือจากเหงื่อที่ไหลซึมเต็มหน้าและผม เธอดูไม่เครียดหรือเจ็บปวดอะไรนัก เราหยุดพักกันเฉพาะเวลาสวดมนต์ตอนเที่ยงวัน

“อีกสัก ๑ ชั่วโมง เธอก็ร้องออกมาเบาๆ และเราก็ได้ยินเสียง “ตุ้บ” พอเธอเลิกชายผ้าขึ้นมา ก็เห็นเด็กนอนอยู่ในหลุม แต่เธอยกมือสกัดคนอื่นไว้ - เดี๋ยวก่อน ยังไม่เสร็จ อีก ๑๕ นาทีต่อมา เธอร้องเบาๆ อีกครั้ง และเราได้ยินเสียง “ตุ้บ” อีกหน เป็นแฝดผู้ชาย ...พวกผู้หญิงยังคงร้องเพลงและเต้นรำกันต่อไปจนมืดค่ำ ฉันตื้นตันใจจนร้องไห้ สำหรับฉัน นี่เป็นหลักฐานเพียงพอที่แสดงถึงที่มาดั้งเดิมของการเคลื่อนไหวบางลีลาที่ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบำหน้าท้อง”

ระบำบำบัด
จากเดิมที่เป็นเครื่องมือช่วยในการออกลูก จนกลายเป็นการแสดงความหมายในพิธีกรรมต่างๆ ระบำหน้าท้องในบางที่แตกแยกออกไปเป็นการแสดงบันเทิงให้ผู้ชายในงานเลี้ยง และไนต์คลับ พวกนี้มักเป็นนางระบำยิปซีเร่ร่อนหาเลี้ยงชีพ ที่มีชื่อมากๆ ก็ได้แก่ สาวเผ่าอูเลด เนล (Ouled Nail) จากแอลจีเรีย และสาวเผ่ากาวาซี (Ghawazi) ในอียิปต์ ผู้หญิงเหล่านี้มาจากวรรณะนางรำบันเทิงซึ่งสืบทอดทางสายเลือดของเผ่านั้นโดย เฉพาะ และมักจะให้บริการทางเพศเสริมด้วย จนเก็บเงินได้เพียงพอค่าสินสอด จึงจะเดินทางกลับบ้านไปออกเรือน เป็นวัฒนธรรมปฏิบัติปรกติที่ไม่มีใครในเผ่ารังเกียจ

แต่บทบาทหนึ่งที่ดูเหมือนว่าแทบทุกวัฒนธรรมดั้งเดิมจะมีการใช้ระบำตรงกันหมด ไม่ว่าจะระบำหน้าท้อง หรือระบำลักษณะคล้ายๆ กันอย่างระบำแอฟริกัน คือ บทบาทในการบำบัดจิตใจ และรักษาโรคที่เกิดจากจิต ซึ่งหลายเผ่ามีการจัดเป็นพิธีกรรมรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ใช้กลองตีเป็นจังหวะให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภวังค์ก่อนลุกขึ้นร่ายรำ แต่หลายๆ แห่งใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้หญิงอย่างที่ฟอว์เซียบันทึกไว้

ฉันได้มีโอกาสเห็นกระผีกเสี้ยวบางส่วนของกลไกนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่หัดเรียน ระบำหน้าท้องกับผู้หญิงแคนาดาชื่อ ทาร่า เป็นคอร์สอินโทรสั้นๆ ๒ สัปดาห์ ในกลุ่มนักเรียนประมาณ ๑๐ คน มีผู้หญิงตูนิเซียคนหนึ่งรวมอยู่ด้วย ไม่ทราบนิยายชีวิตเธอเป็นมาอย่างไร แต่เดาว่าเธอเป็นชาวตูนิเซียพลัดถิ่นมาแต่เยาว์วัย จนไม่เคยเรียนระบำหน้าท้องซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของตูนิเซีย เธอแผ่พลังโกรธตลอดเวลา รังสีเหมือนหนามทุเรียนอันใหญ่ๆ ที่มีปลายหยักเหมือนสายฟ้าผ่าการ์ตูน แถมพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยยิ่งหงุดหงิด คอยโพล่งฝรั่งเศสออกมาเป็นพักๆ ซึ่งเพื่อนร่วมชั้นอย่างฉันก็จนใจ เพราะปาร์เลได้แค่ซาวะและออวัวร์ ควาย กระทิง

เพียงคลาสแรก เมื่อครูเปิดให้นักเรียนลองเคลื่อนไหวอิสระไปกับเพลง แม่นางตูนิเซียก็ทำให้ทุกคนตกใจด้วยการจิกมือเป็นงูเห่าไล่ฉกคนอื่น ฉกกันแรงๆ ด้วยแววตาที่ก้าวร้าว


ผู้หญิงเผ่าอูเลด เนล และเผ่ากาวาซี มีวรรณะนางรำที่มีหน้าที่ให้ความบันเทิงโดยเฉพาะ หลายคนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ เป็นต้นตอของระบำหน้าท้องในรูปแบบที่เรารู้จักกัน ทุกวันนี้ ในภาพเป็นสาวเผ่าอูเลด เนล ในแอลจีเรีย ถ่ายไว้เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน
อาจเป็นได้ว่าพฤติกรรมของนางตูนิเซียมีฐานจากวัฒนธรรมที่เราไม่รู้จักและตี ความกันไปเอง แต่ยิ่งการฝึกฝนดำเนินไปเรื่อยๆ วันละ ๒ ชั่วโมง วันแล้ววันเล่า ผู้หญิงทุกคนหัดหมุนนมด้วยกัน ส่ายสะโพกด้วยกัน จากเริ่มแรกขยับอะไรไม่ไปเลย ก็เริ่มเขยื้อนได้ จนในวันท้ายๆ ทุกคนดูเป็นคนสวย น่ามอง ไม่ว่าจะอ้วนที่สุดในชั้น (ฉัน) หรือผอมแห้งแค่ไหน (คนอื่น) หรือคอสั้น ขาสั้น ฯลฯ มันเป็นเพียงรูปร่างต่างๆ ที่งามด้วยการเคลื่อนไหวและความรู้สึก

เหมือนความโกรธในตัวแม่นางตูนิเซียจะละลายหายไปกับอากาศ เธอนุ่มนวลขึ้น ยิ้มแย้มให้เพื่อนร่วมชั้น ในขณะที่คู่หูจ๋องๆ ของเธอเบ่งบานขึ้นมาผิดหูผิดตา เหมือนดอกไม้กลางทะเลทรายได้ฝน

ลองเทียบฉากนี้ดูกับฉากการสวดมนต์ในชีวิตวัยเด็กของฟอว์เซีย

ทุกพฤหัสบดีแรกของเดือน ญาติมิตรจะมาชุมนุมที่บ้านของฟอว์เซียเพื่อกินอาหาร ดื่มน้ำชา และสวดมนต์ร่วมกัน พวกผู้ชายจะขนกลองกับฉิ่งมาด้วย และแยกไปชุมนุมกันในห้องใหญ่ ผู้หญิงจะตามมาทีหลัง และชุมนุมในอีกห้องหนึ่ง หลังละหมาดเย็น จะเป็นเวลาอ่านคัมภีร์กุรอานและทำสมาธิกับกลอง

พวกผู้หญิงนั่งล้อมกันเป็นวงกลม สวมผ้าคลุมหัวสีดำ ซึ่งเป็นสีมงคล ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของดินท่ามกลางถิ่นทะเลทราย มูลลาห์หญิง (ประมาณมัคนายกไทย) จะเปล่งเสียงสวดใสกังวานออกมาจากท้อง และหญิงอื่นๆ ก็เริ่มโยกตัวไปมา โยกออกไปข้างหน้า แล้วโยกกลับ โยกออกไป แล้วโยกกลับ เป็นจังหวะเดียวกันเหมือนคลื่นยักษ์ พอมูลลาห์หยุดสวด ทุกคนก็นิ่งเงียบอยู่ในสมาธิของตัวเอง

แล้วเสียงกลองก็ดังขึ้นมาจากห้องผู้ชาย เหมือนลมที่พัดเข้ามาโดนตัวผู้หญิง พวกเธอเริ่มโอนเอนไปทางขวา หมุนตกลงไปข้างหน้า แล้วเอนไปทางซ้าย ปลิวหมุนกลับมาทางขวา พลางร้องประสานร่วมกัน “...ลา อิลาฮา อิลลา ลลาห์...” (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระเจ้า) พวกเธอโยกตัวหมุนและหมุนและหมุน เร็วขึ้น แรงขึ้น เร่าร้อนมากขึ้น จนสาวๆ บางคนเริ่มร้องไห้ด้วยความรู้สึกที่เอ่อล้นขึ้นมากับการโยกตัวตามเสียงกลอง หญิงที่แก่กว่า นิ่งกว่า จะเข้าไปโอบกอดให้กำลังใจ พวกเธอโยกตัวต่อไปเรื่อยๆ แม้จะเหนื่อยล้า หมดแรง จนเสียงกลองค่อยๆ เบาลงๆ พวกเธอก็เบาตาม จนสงบนิ่ง สีหน้าปลอดโปร่ง โล่งใจ แก้มแดงด้วยเลือดสูบฉีด เหงื่อจับเส้นผมไหลย้อยลงมาตามแก้มและลำคอ แต่ตาใสเป็นประกายด้วยความสุขสงบ

มองจากพื้นฐานของคนไทย ฉันคิดว่าปรากฏการณ์นี้ - ทั้งเรื่องของสาวชาวตูนิเซียและผู้หญิงอาหรับสวดมนต์ - มีอะไรคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราเวลาเริ่มนั่งวิปัสสนาแล้วดูพลังจาก อารมณ์ ซึ่งบางครั้งเป็นความรู้สึกหนักๆ หรือรู้สึกคมๆ ที่เราสะสมจากความเครียด ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว ฯลฯ ค่อยๆ ลอยตัวขึ้นเหมือนลมหมุนหลุดออกไปจากร่าง จนเบา โปร่ง โล่ง สะอาด สบาย บางครั้งถึงกับสลายตัวเหมือนไม่มีร่างอยู่เลย พร้อมให้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งด้วยกระดาษขาวแผ่นใหม่ ไม่มีอะไรคั่งค้าง ไม่มีขยะหลงเหลืออยู่ โดยหวังว่าหนนี้จะมีสติปัญญาวาดรูปได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการธรรมชาติ ถ้าเรายอมรับว่าที่สุดแล้ว ทุกสิ่งเป็นพลังงาน ทั้งสิ่งที่เราจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ - มันอาจมีรูปแบบต่างกัน ความถี่คลื่นต่างกัน หรือโมเลกุลจับตัวหนาแน่นต่างกัน ด้วยโครงสร้างที่ต่างกัน แต่ที่สุดแล้วก็ล้วนเป็นพลังงานเหมือนกันหมด โดยธรรมชาติ พลังงานจะเดินทางแผ่กระจายลื่นไหลด้วยความเร็วต่างๆ กันไป พลังจากอารมณ์ก็เช่นกัน ถ้าไม่กดทับมันไว้ หรือใส่สีตีไข่ปรุงแต่งเพิ่มเติมจนมันแปรรูปไปเป็นเซลล์มะเร็ง หรือโรคเครียดอื่นๆ มันก็จะเคลื่อนลอยขึ้นมา และสลายตัวหลุดไปเองโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย

ความที่ธรรมชาติของพลังงานมันเคลื่อนไหว พลังจากอารมณ์และลมปราณในตัวจะยิ่งลื่นไหลได้ดีถ้าบ้านที่มันอยู่ คือตัวเรา มีความเคลื่อนไหว สังเกตดู เวลาที่เราได้เดิน ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรามักจะรู้สึกดี ปลอดโปร่ง ตื่นมีพลัง หรือถ้าไม่เคลื่อนไหว ก็ต้องเปิดประตูหน้าต่างให้ลมให้แสงแดดถ่ายเทเข้าออกได้ ในมุมมองของพลัง ประตูหน้าต่างบนตัวเราเหล่านี้เรียกว่า จักระ เป็นศูนย์ถ่ายเทพลังปราณระหว่างตัวเราและจักรวาล เคลื่อนที่เป็นวงกรวยหมุนๆ มีอยู่ยุ่บยั่บมากมายทั่วตัวไปหมด ตั้งแต่วงจิ๋วๆ ระดับเซลล์ระดับอะตอม ไปจนถึงอันใหญ่ๆ บนมือ เท้า หัว และตามแนวสันหลัง เช่น บริเวณคอ อก ท้อง และก้นกบ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้หมุนได้ดีขึ้นด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวตามแนวจักระหลักๆ เหล่านี้อย่างมีสมาธิ จึงมีคุณประโยชน์ถึงสองเด้ง เด้งที่หนึ่งคือได้เปิดประตูหน้าต่างออกกว้างๆ เด้งสองคือ ได้ใช้ความเคลื่อนไหวเป็นไม้กวาด ช่วยแซะฝุ่นตามมุมอับออกมาที่หน้าต่าง เพื่อให้ลมปราณช่วยพัดหลุดลอยออกไปได้ง่าย

สุภาษิตโบราณของแอฟริกันจึงบอกว่า “เวลาสวดมนต์ ขยับเท้าด้วยนะ”

แต่หัวใจของระบำหน้าท้องไม่ได้เน้นการขยับขาเป็นสเต็ป ที่เจ๋งคือมันเป็นการเต้นรำที่เน้นการเคลื่อนไหวของลำตัว โดยเฉพาะตามบริเวณจักระหลักต่างๆ แถมเป็นการเคลื่อนไหวที่ล้อการหมุนของจักระ และให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวจากศูนย์ท้อง ที่รวมพลังปราณอีกด้วย

ระบำหน้าท้องจึงช่วยขจัดขยะอารมณ์ที่อุดศูนย์พลังในร่างกายและตามเซลล์ทั่ว ตัว เขย่ามัน กวนมันขึ้นมาเหมือนเทพกับอสูรกวนมหาสมุทร แล้วก็ปล่อยมันไปกับลมปราณ จนจักระเราโปร่งโล่ง เปิดให้พลังบริสุทธิ์ในจักรวาลถ่ายเทเข้ามาได้ ด้วยกระบวนการนี้ จิตใจและร่างกายก็สามารถฟื้นคืนสู่ภาวะปรกติที่เป็นสมดุลตามธรรมชาติของมัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แทบจะเห็นกันได้ต่อหน้าต่อตา และสัมผัสได้ในตัวเอง

ระบำหน้าท้องจึงเป็นการทำสมาธิในการเคลื่อนไหวที่เน้นการขับเคลื่อนพลังปราณ ตามศูนย์จักระหลักๆ ไม่ต่างไปจากโยคะหรือมวยจีน แค่เริ่มด้วยท่ายืนเบื้องต้นก็ใช่แล้ว ยืนหลังตรง ย่อเข่านิดๆ เก็บก้น เปิดอก ทิ้งไหล่ เพื่อให้แนวสันหลังตรงที่สุด หัวตั้ง เหมือนมีสายใยจากฟ้าดึงกลางกระหม่อมขึ้นไป ในขณะที่ขาและร่างกายส่วนล่างมีรากพลังงอกลงสู่ดิน

นี่เป็นเทคนิคการทรงตัวที่สาวอาหรับใช้เดินทูนหม้อไหสัมภาระต่างๆ ไว้บนหัวได้อย่างคล่องแคล่วและสง่างาม โดยไม่ต้องใช้มือประคอง ฟอว์เซียอธิบายวิธีการทรงตัวนี้ว่า “นี่ดิน แล้วก็ตัวเรา แล้วก็หม้อบนหัว แล้วก็ฟ้า” เชื่อมต่อเป็นสายเดียวกัน

การทำสมาธิด้วยการเคลื่อนไหวนี้พบทั่วไปในหลายวัฒนธรรม ที่รู้จักกันดีที่สุดในแถบแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางจนเป็นรายการ “ต้องชม” ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอิสตันบูลและกรุงไคโร เห็นจะได้แก่การเต้นหมุนของอิสลามนิกายซูฟี ซึ่งสามารถช่วยปรับกายและจิตให้เข้าสู่ภาวะ “ฮาดราห์” (hadrah) แปลตรงตัวว่า “การปรากฏ” (ของพระเจ้า) โดยวงหมุนแต่ละวงจะพาเราเวียนวนขึ้นไปสู่ความปีติสุขของอิสรภาพทางจิตวิญญาณ สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

การเต้นของซูฟีเป็นการปฏิบัติของผู้ชายที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นเทคนิคการ ปฏิบัติธรรม มีเครดิตดีพอๆ กับโยคะ มวยจีน หรือการเต้นหมุนของพุทธมหายานในภูฏาน แต่จริงๆ แล้ว ระบำหน้าท้องและรำอื่นๆ ก็สามารถสนองบทบาทเดียวกัน เพราะเวลาเต้นรำ ถ้าเราไม่ได้มีความคาดหวังอะไร ไม่หวังว่าต้องเต้นสวยเต้นเก่งให้ใครดู เราจะอยู่กับวินาทีที่เคลื่อนไหวโดยธรรมชาติ ยิ่งเวลาที่หมุนติ้วเป็นลูกข่างแบบซูฟี เราไม่มีทางคิดถึงอะไรอื่นได้เลย นอกจากจุดนิ่งกลางแกนหมุน

นักเต้นรำทั้งน้อยและใหญ่ในโลกหลายคน รวมถึง มาร์ทา เกรแฮม (Martha Graham) มารดาแห่งโมเดิร์นดานซ์ จึงพูดถึงภาวะคล้ายๆ กับภาวะฮาดราห์ของซูฟีนี้ “...พลังขับเคลื่อนของพระเจ้าที่ถ่ายทอดผ่านตัวฉันนี่แหละ คือจุดหมายของชีวิตฉัน” กาเบรียล รอท (Gabrielle Roth) ต้นตำรับ “เซนตะวันตก” อธิบายว่าเป็นภาวะไร้อัตตา ไร้กาลเวลา “เต็มไปด้วยความว่างเปล่า” เฟเดอริโก การ์เซีย ลอร์คา (Federico Garcia Lorca) กวีเอกของสเปนเรียกว่าภาวะ “เอล ดูเอนเด” (El Duende) เป็นภาวะที่ “...เหมือนกับเอลดูเอนเด [วิญญาณภูต] ไหลเทเข้าร่างดั่งลมพัดวูบผ่านกองทราย” และเราเองก็เคยได้ยินครูรำไทยโบราณพูดถึงภาวะที่ถูกบรมครู “ครอบ” เสมือนมีอีกจิตวิญญาณเข้ามาสวมร่าง ร่ายรำเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติโดยตัวเองว่างเปล่า ไม่รู้สึก ไม่คิดอะไรเลย

การทำสมาธิด้วยการเคลื่อนไหวในรูปแบบหลากหลายต่างวัฒนธรรมเหล่านี้ จึงต่างกับการปฏิบัติบางสำนักบางศาสนา ที่มองร่างกายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระเจ้า เพราะเห็นว่ามันมีแต่ความอยาก - อยากกิน อยากสบาย อยากลิ้มรสสัมผัส แถมยังเต็มไปด้วยสรรพสิ่งที่คนเห็นว่าน่าเกลียดและสกปรก เช่น ขี้หู ขี้ตา น้ำมูก น้ำเหลือง (ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งมหัศจรรย์น่าเคารพนับถือเหนือชั้นกว่าน้ำมันหล่อ ลื่นเครื่องจักรใดๆ) จนพานเกลียดชังร่างกาย ถึงขนาดทำโทษมัน สวดมนต์ไปเหวี่ยงแส้เฆี่ยนหลังตัวเองไป เป็นต้น

แต่แนวทางปฏิบัติด้วยการเคลื่อนไหวอย่างมีสมาธิเหล่านี้ นอกจากจะมองร่างกายเป็นครูผู้ให้โอกาสเรารู้จักทุกข์ จนเกิดสติปัญญาให้หลุดพ้นจากทุกข์แล้ว ยังใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือเข้าถึงพระเจ้า โดยพัฒนาสติปัญญาจากร่างกายโดยตรง ปลุกความรู้ดั้งเดิมที่ฝังอยู่ในเซลล์ เพื่อนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวของกาย จิต วิญญาณ และสรรพสิ่งทั้งปวงในจักรวาล

ความฉลาดทางกาย
ฉันเคยไปเข้าคอร์สระดับ ๑๐๑ เรียนการแพทย์ทางเลือกของฝรั่งที่เรียกว่า “Cranial Sacral Therapy” แปลตรงตัวว่า “การบำบัดกะโหลกและสันหลัง” ซึ่งเน้นการปรับจังหวะการถ่ายพลังและของเหลวในร่างกายให้กลับคืนสู่สมดุล เดิม การบำบัดนี้ไม่ได้ดูเฉพาะกะโหลกและสันหลังตามชื่อ แต่ยังรวมถึงการบำบัดความจำที่ฝังอยู่ตามกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ระบบความจำนี้เรียกว่า ฟาสเซีย (fascia) มีลักษณะคล้ายร่างแหซึ่งแข็งแรงแต่ยืดหยุ่นคลุมอยู่ทั่ว ฟาสเซียประกอบด้วยสารซิลิกาเช่นเดียวกับความจำคอมพิวเตอร์ จึงสามารถเก็บความจำได้ดีและส่งข้อมูลได้เร็วถึง ๓๐,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวินาที หรือร้อยละ ๑๐ ของความเร็วแสง ซึ่งเร็วกว่าระบบประสาทมากนัก

ฟาสเซียเป็นส่วนสำคัญของความฉลาดทางกาย มีหน้าที่ช่วยดูแลการเคลื่อนไหวของเราให้คงรูปปรกติ เป็นกลไกป้องกันผลกระทบจากอุบัติเหตุ ซึ่งถ้าไม่มีฟาสเซีย มันจะถูกควบคุมด้วยกลไกทางฟิสิกส์ล้วนๆ เช่น หัวหลุดตามแรงเหวี่ยง การเคลื่อนตัวของฟาสเซียจะทำหน้าที่คล้ายเข็มขัดนิรภัยที่ช่วยลดผลกระทบจาก แรงเหวี่ยงได้ราวร้อยละ ๑๕ อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจเกิดอุบัติเหตุหรือไปทำอะไรพลิกแพลงผิดท่าส่งผลกระทบต่อกล้าม เนื้อโดยไม่รู้ตัว ฟาสเซียก็จะไปจำการเคลื่อนไหวที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปนั้น วิธีบำบัดคือทำให้กล้ามเนื้ออยู่ในสภาพที่สามารถคลายเกลียวประหลาดๆ นั้นได้เอง จนกลับไปสู่ความจำเดิมที่เป็นธรรมชาติของมัน

เราสามารถพัฒนาความฉลาดทางกายให้สูงขึ้นด้วยการฝึกฝนความจำนี้ให้ละเอียด ขึ้น แม่นยำขึ้น ไม่ต้องใช้สมองสั่งทุกขั้นตอนตลอดเวลา จนร่างกายกลมกลืนเป็นธรรมชาติ เคลื่อนไหวได้เหมือนสัตว์ ลื่นไหลไปกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟรอบตัว

อันนี้เป็นทฤษฎีที่ฉันสังเกตสัตว์และคนบางคนเอาเอง เพราะสำหรับตัวฉัน ต้องขอบอกตรงๆ ว่า ถ้าไม่นับการเดินป่าเดินเขาที่ฉันพัฒนาจังหวะธรรมชาติมาแต่เด็ก สติปัญญาทางกายทั่วไปของฉันนั้นมีน้อยนิดขนาดครูพละให้คะแนนเมตตา ๕๐ เปอร์เซ็นต์กันตกทุกเทอมมาตลอด ฉันใช้สมองมากเกินไปจนร่างกายขาดประสิทธิภาพ เหมือนรัฐที่ปกครองจากส่วนกลางเป็นหลัก ไม่ได้กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตนเองเท่าที่ควร พอท้องถิ่นจะทำอะไรที ก็ต้องส่งสารไปยังสมองส่วนกลางให้ตัดสินใจ เอาเข้า ครม. ปั๊มตราครุฑ สั่งการกลับไปยังท้องถิ่น

คุณย่าของฟอว์เซียตระหนักในความสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางกายดี จึงให้ฟอว์เซียฝึกเดินลงบันไดโดยใช้เท้ามอง อาศัยประสาทสัมผัสบนฝ่าเท้าจับทาง โดยตามองไปข้างหน้าแทนที่จะคอยจ้องดูพื้น “มันจะช่วยกันหลานตกกระไดได้ดีกว่าใช้ตามอง”

ส่วนฉัน เวลาที่เรียนลีลาท่าเต้นใหม่ๆ ฉันจะเรียนได้ช้ามาก เริ่มต้นก็ต้องจินตนาการเห็นภาพรวมของการเคลื่อนไหวให้ได้ก่อน ตามนิสัยของนักวางแผนที่ต้องเห็นเป้า ตามด้วยการวิเคราะห์ทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน แล้วค่อยๆ เคลื่อนไหวตามลำดับ ๑-๒-๓-๔ จนคล่อง กว่าจะเอามันมาเชื่อมกันเป็นลีลาต่อเนื่องฝีแปรงเดียว

คนที่มีความฉลาดทางกายสูงจะสามารถซึบซับการเคลื่อนไหวเข้ามาได้เลยทั้งยวง พลางแนะนำฉันว่า “อย่าใช้หัวคิดสิพี่ ให้ขามันไปเอง”

ไม่เป็นไรน้อง พี่แก่แล้ว ต้องค่อยๆ ดัด อย่างน้อยพี่ก็ไม่ได้รอจนอายุ ๗๐ กว่าจะลุกขึ้นมาหัดเต้นรำ อย่างคุณลุงโสกราตีส นักปราชญ์กรีกโบราณ เอาละ ๑-๒-๓-๔-ขวา-ลง-ซ้าย-ลง เออ ! เป็นรูปโว้ย เป็นเลขแปดจริงๆ ด้วย พลังรูป 8 รู้สึกอย่างนี้เอง สนุกดีว่ะ สนุกจริงๆ เลย

ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะเอ็นจอยฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ดีขนาดนี้

หรือเป็นเพราะระบำหน้าท้องเป็นการเคลื่อนไหวที่พัฒนามาสำหรับร่างกายของ ผู้หญิงโดยเฉพาะ ? เบื้องหลังของมันซ่อนความลับของคุณย่าฟอว์เซีย หรือถ้าพูดในภาษามรดกเพศหญิง ก็ต้องบอกว่าเป็นความลับของยาย หรือของแม่ของแม่ของแม่ของยายเรา - ผู้หญิงที่เข้าใจความหมายของความเป็นหญิงอย่างแท้จริง ถ่ายทอดกันมาก่อนยุคกรีกโบราณของซีอุสและเพลโตที่ให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ ของเพศชายและวิธีคิดของสมองซีกซ้าย ก่อนคริสตจักรของเซนต์พอลที่ไม่ยอมรับบทบาทผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้หญิง และแน่นอนว่าก่อนศาสนาอิสลามจะแพร่หลายไปทั่วดินแดนทะเลทรายซาฮาราและตะวัน ออกกลาง

ตามหาคุณยาย - ความหมายของผู้หญิง ผ่านระบำหน้าท้อง
ในยุคนี้ แม้เราจะยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า การออกลูกเลี้ยงลูกไม่ใช่หน้าที่เดียวของผู้หญิง และผู้หญิงจำนวนมากก็ไม่อยากเป็นแม่ตามแบบเรียนชีววิทยา แต่สัญชาตญาณเพศแม่คงเป็นความจำเดิมที่ฝังมากับเซลล์ ผลักดันให้ผู้หญิงหาทางถ่ายทอดความเป็นแม่ในแนวทางต่างๆ ตามถนัด ไม่ว่าจะเป็นงานช่วยสังคม เพื่อดูแลโลกกับอนาคตลูกๆ ที่มีอยู่ล้นโลก งานถ่ายทอดพันธุกรรมทางวัฒนธรรมแทนพันธุกรรมดีเอ็นเอ หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ ซึ่งดูเผินๆ ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากความต้องการในชีวิตของผู้ชายจำนวนมาก แต่ในสังคมสมัยใหม่ของเมโทรวูแมน ที่กลบเกลื่อนความต่างทางธรรมชาติระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย บางครั้งกลับทำให้เราเคว้งคว้าง สับสนโดยไม่รู้ตัว เหมือนคนไม่รู้จักกำพืดตัวเอง เหมือนต้นไม้ที่หยั่งรากไม่ถึงน้ำใต้ดิน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ โดยเฉพาะช่วงยุคฮิปปี้ ผู้หญิงหลายคนจึงพยายามย้อนกลับไปค้นหาความรู้จากวัฒนธรรมเก่าแก่ต่างๆ ที่ยังคงรู้จักการเข้าถึงจิตวิญญาณและพลังธรรมชาติของผู้หญิง ซึ่งออกจะแปลกที่มาพบความรู้นี้กันในวัฒนธรรมอาหรับ สังคมที่ผู้หญิงถูกกดขี่มากที่สุด

“สังคมอาหรับตระหนักดีถึงความสำคัญของพลังเพศหญิง ไม่มีใครเคยคิดจะปฏิเสธ หรือแม้แต่จะประเมินค่ามันต่ำ” ฟอว์เซียชี้แจง “แต่ทัศนคติที่มีต่อมันออกจะขัดแย้งกันอยู่ ในด้านหนึ่ง พลังผู้หญิงได้รับการยอมรับและยกย่อง แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมีความกลัวกันว่ามันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนในสังคม จึงมีความพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของมันเอาไว้ด้วยผ้าคลุม และด้วยการแยกมันออกจากสังคมภายนอก ภายในครอบครัว ผู้หญิงจะมีบทบาทเป็นนางยั่วสวาท เป็นที่ปรึกษา และเป็นแม่แสนอบอุ่นผู้ยิ่งใหญ่ เธอได้รับทั้งความเคารพและความชื่นชม และสามารถดำเนินชีวิตด้วยความเป็นหญิงอย่างเต็มที่ แต่ในโลกภายนอก เธอมีอิทธิพลได้แต่ในทางอ้อมเท่านั้น”

ฉันต้องยอมรับว่าในทีแรกไม่ค่อยเข้าใจที่ฟอว์เซียอธิบายเท่าไร จนไม่กี่เดือนก่อน ยอมอดนอนไปเที่ยวบาร์อาหรับที่โรงแรมเกรซตรงซอยนานา บาร์นี้เปิดเที่ยงคืนถึงตีสี่ ที่นี่มีวงดนตรีอาหรับครบเครื่อง พร้อมนักร้องและฟลอร์เต้นรำอย่างดี มีเพียงคืนพิเศษบางคืนที่มีระบำหน้าท้อง แต่ส่วนใหญ่จะเปิดฟลอร์ให้คนมาเที่ยวเต้น คนที่มาก็ไม่ได้มีแต่ชีคผู้ชาย แต่หลายกลุ่มมากันเป็นครอบครัว

กลุ่มหนึ่งมีคุณป้าวัยประมาณ ๕๐ กว่ามาด้วย ตัวแกค่อนข้างใหญ่ แต่รัศมีรอบตัวแกยิ่งใหญ่ไปกว่าตัวหลายเท่า แกยิ้มกว้างขวางอย่างอบอุ่นให้พวกเรา ซึ่งเป็นผู้หญิงล้วน แถมไม่ใช่แขกอยู่กลุ่มเดียว คุณป้าเดินไปเดินมาบนฟลอร์เต้นรำ พลางขยับเต้นคลับคล้ายแบบกรีกเป็นพักๆ ฉันเลยแอบเรียกแกว่ากรีกมาม่า แต่แล้วอยู่ๆ กลองตีมันถึงใจ ป้ากรีกมาม่าแกเลยส่ายสะบัดสะโพกกลางฟลอร์อย่างไม่แคร์ใครทั้งสิ้น ไม่ได้เต้นโชว์ให้หนุ่มดู ไม่ได้เต้นประชันสาวที่ไหน แกมันของแกเอง พลังที่แกเปล่งออกมาเล่นเอาพวกเราตื่นตะลึง นี่เจ้าแม่บิ๊กมาม่าของแท้มาเอง นำเสนอธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ท่านทั้งหลายประจักษ์กันซึ่งๆ หน้า ต้องขอบอกด้วยว่า หนึ่งในกลุ่มพวกเราที่ไปเที่ยวกันในคืนนั้น รวมเคชี ชาวนิวยอร์กเชื้อชาติจีนบรูไนที่เป็นนักระบำหน้าท้องระดับซูเปอร์สตาร์แนว หน้าของโลกด้วย และขนาดเคชีเองยังยกนิ้วให้คุณป้าเลย

ฉันขออภัยที่ไม่สามารถสาธยายพลังคุณป้ากรีกมาม่าให้เป็นภาพชัดเจนได้ แต่ในวินาทีนั้น ฉันเข้าใจทันทีว่าทำไมผู้ชายอาหรับจึงต้องเอาผ้าคลุมผู้หญิงไว้ให้เป็นเพียง เต็นท์เดินได้ จำเป็นต้องคลุมเพราะไม่รู้จะคุมอย่างไร

สำหรับสังคมฝรั่ง ฟอว์เซียวิจารณ์ว่า “ในสังคมตะวันตก พลังเพศหญิงเป็นอะไรที่แรงจนผู้ชายรู้สึกถูกข่มขู่ พวกเขาจึงพยายามปฏิเสธมัน และทำให้หมดฤทธิ์ด้วยการยอมรับแต่ผู้หญิงที่ ‘มีเหตุมีผล’ เป็นตรรกะน่าฟัง และสามารถควบคุมพลังหญิงของตนเองไว้ได้ พูดง่ายๆ ก็คือกดมันเอาไว้นั่นเอง”

ย้อนมาดูผู้หญิงไทยในวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เรื่องหลอกตัวเอง กดขี่ เซ็นเซอร์ตัวเองนี่ เราถนัดกันจริงๆ เรารับมาทั้งอิสรภาพตามภาพพจน์จากโฆษณา แนวโกเต๊กนิวฟรีดอมไร้ฤทธิ์เดชของสาวมั่นฉับ คล่องแคล่ว เก่งเทียมชายสไตล์เอเชียอยากเป็นฝรั่ง และค่านิยมที่อยากจะขอเรียกว่าเป็นแนว “ทวิถัน” มีมุมมองขาวดำต่อร่างกายผู้หญิง ยกตัวอย่างเรื่องนมผู้หญิง จะสามารถนำเสนอได้เพียงสองทาง คือถ้าไม่ปิดมิดชิดห่อไหล่เสียสุขภาพเป็นกุลสตรีดีมียางอาย ก็โชว์เพื่อสื่อสารเซ็กซ์ ไม่รู้จักทางเลือกอื่น นมไม่สามารถเป็นได้แค่นม อวัยวะหนึ่งเช่นเดียวกับแขนขา แม้ว่ามันจะมีหน้าที่หลักทางชีววิทยาในการให้อาหารลูก และมีบทบาททางเพศเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นเพียงนม ส่วนหนึ่งของร่างกายที่ติดอยู่หน้าใจ จึงมีการแสดงออกตามธรรมชาติ ผสานกลมเกลียวไปกับลมหายใจ อยากจะยื่นชูไปกับใจเปิดเบิกบาน อยากจะเคลื่อนไปกับจังหวะที่สัมผัสในหัวใจ

ถ้าคุณมีความรู้เกี่ยวกับแรดสักนิด จะเห็นได้ว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีอะไรละม้ายคล้ายแรดอย่างที่คนไทยชอบ กล่าวหาแม้แต่น้อย (และแรดก็ไม่ได้เป็นสัตว์ร่านแสนสตรอว์เบอร์รี่อย่างที่ตีความกันด้วย)

สังคมไทยจึงเหวี่ยงขั้ว จากชื่นชมแม่พลอย มาชื่นชม ทาทา ยัง มาปะทะกะระเบียบรัตน์ ที่เหลือตรงกลางก็อเพศไป แม้ว่าการมีพลังสองขั้วจะก่อให้เกิดชีวิตก็จริง แต่ขั้วโคโยตี้ผจญรำไทย ททท. เป็นขั้วปลอมที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงรู้จักตัวเอง

พูดอย่างนี้ หาเรื่องเข้าตัว - ขอโอกาสอธิบาย

เอาเรื่องโคโยตี้ก่อน เต้นโคโยตี้ที่เราเห็นกันทั่วๆ ไป เน้นยื่นนมยื่นก้นเพื่อจุดประสงค์เดียว โดยคนเต้นไม่ได้มีทักษะการเคลื่อนไหวที่สรรค์สร้างศิลปะ คือ เกิดการสื่อที่ยกระดับจิตวิญญาณหรือกระตุ้นความคิดใดๆ นอกเหนือไปจากความใคร่แบบหยาบๆ ให้แก่ผู้ชม

ความรู้สึกที่เรารับในฐานะผู้ชม มาจากทัศนคติและเจตนารมณ์ของคนเต้น ถ้าคนเต้นจริงใจกับพลังทางเพศในความเป็นสัตว์ตัวเมียของตัวเอง เราก็สามารถชื่นชมเลือดเนื้อฟีโรโมนเร่าร้อนแบบสัตว์ป่ากลัดมันได้อย่างจริง ใจเช่นกัน แต่ถ้าคนเต้นนึกถึงเงินที่จะได้จากการนำเสนอก้นนม เราก็เห็นความกระหายเงิน กระหายฐานะ กระเป๋าปราด้า และมือถือรุ่นใหม่ ซึ่งถ้าคุณไม่ใช่อาเสี่ยหาขนมกินเล่น มันก็ไม่มีอะไรเซ็กซี่น่ามองสักนิดเดียว

ส่วนรำไทยในบริบทสังคมไทยแนวกระทรวงวัธนธัม หรือรัฐสมัยใหม่ ถูกจัดให้เป็นภาพพจน์ของกุลสตรีไทย กิจกรรมผู้หญิงดี เรียบร้อย มุ่งขัดเกลาให้อ่อนช้อย หวานหยดย้อย จนความหวานกลายเป็นคำจำกัดความของความเป็นหญิงไป

บังเอิญตอนเป็นเด็ก ฉันเจอครูรำไทยดุสุดๆ พานให้ไม่สนใจรำไปเลยจนแก่จะเข้าวัยทองอยู่แล้ว ครูรำประจำโรงเรียนเป็นคนเนี้ยบ เจ้าระเบียบ ใส่ใจแต่รายละเอียดของท่ารำ ไม่ถูกใจก็ตวาดเสียงแจ๋น เด็กนิ้วสั้นมือบานเป็นตีนตุ๊กแกอย่างฉันจะไม่สบอารมณ์แกเป็นอย่างยิ่ง ยกมือฟ้อนอยู่ใกล้แกก็ต้องเจ็บตัวน้ำตาร่วง เพราะแกจะจับหักงออย่างแรงโดยไม่รู้ตัว

ตรงข้ามกับการสอนรำที่อินเดียที่ฉันเคยไปลองเรียนมา คุณครูศรีลักษมีของฉันอายุ ๑๙ ขวบเท่านั้น แต่เธอรำให้ฟ้าดิน เธอเปิดการสอนด้วยท่าไหว้ครู พร้อมกับอธิบายว่า “ที่อินเดีย การรำเป็นการสื่อกับพระเจ้า เราอยู่บนโลก เป็นผู้เชื่อมระหว่างฟ้าเบื้องบนกับดินเบื้องล่าง” เธอแสดงท่ายืนพื้นฐาน ย่อเข่า หลังตรง หัวตั้ง เสมือนมีสายใยพลังเชื่อมต่อดึงเธอจากเบื้องบนและเบื้องล่าง “เราน้อมรับ เคารพ และขอบคุณพลังทั้งปวงนี้” เธอร่ายมือรับฟ้า กวาดออกรับอากาศธาตุรอบตัว จบลงสู่ดิน กลับเข้ามาที่ใจและตาที่สามกลางหน้าผาก “และเราขอบคุณคุณครูผู้ถ่ายทอดวิชา” เธอแบมือออกมารับมือฉัน แต่ฉันกลับย่อตัวเอามือจรดพื้นหน้าเท้าเธอเหมือนที่เห็นลูกศิษย์ตัวเล็กๆ ของเธอปฏิบัติกัน

ศรีลักษมีรำด้วยพลังจากท้อง และด้วยความรู้สึกจากใจ จนสามารถสะกดคนดูให้ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เธอตั้งใจสื่อได้อย่างง่าย ดาย ในการสอน เธอให้ความสำคัญกับแก่นสารก่อนรายละเอียดปลีกย่อย แน่นอนว่า การสอนเด็กกับสอนผู้ใหญ่จะต้องต่างกัน แต่ฉันก็มีโอกาสได้สังเกตเห็นเธอสอนเด็กเล็กระหว่างที่นั่งรอเรียน ซึ่งเธอจะให้เด็กปล่อยตัวไปกับเสียงไม้เสียงกลอง - หัวใจของดนตรี ไม่ใช่มาจุกจิกกับนิ้วอ่อนศอกหักอย่างครูรำไทยโรงเรียนฉัน

แม้ว่านาฏศิลป์ไทยจะมีรากสาวไปได้ถึงอินเดีย แต่รำยุคไทยใหม่ของเรากลับป้อแป้เอิงเงยไม่มีพลัง จะรำให้พระพรหม หรือรำให้ทัวริสต์ก็ไม่ต่างกัน

ฉันเพิ่งมาสนใจในศักยภาพของรำไทย เมื่อมาเรียนระบำหน้าท้องนี่แหละ ให้ตายสิ

รู้จักตัวเองด้วยระบำหน้าท้อง
สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงหลายคนค้นพบเมื่อเริ่มเต้นระบำหน้าท้องไปได้สักพัก คือความรู้สึกอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์กับความเป็นผู้หญิง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับความหวาน หรือเซ็กซ์ มันทำให้เราเริ่มรู้สึกโอเคกับรูปร่างของเรา ร่างกายของเรา และมองเห็นความงามของตัวเองและผู้หญิงคนอื่น งามคล้ายกันและก็งามต่างกัน ผู้หญิงแต่ละคนเริ่มเปล่งราศีหญิงเฉพาะตัวของตนเองออกมาในขณะที่เธอเต้นรำ ทั้งหญิงห้าว หญิงหวาน หญิงเจนโลก หญิงอินโนเซนต์ ไม่ว่าเธอจะมีบุคลิกเดิมอย่างไร มันจะขับด้วยสีสว่างแห่งความเป็นหญิงปนอยู่ - เราเริ่มค้นพบพลังผู้หญิงของตัวเองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องพยายามขวนขวาย ปั้นแต่งอะไรขึ้นมาเลย

ฉันก็ไม่แน่ใจว่าทำไมการเต้นระบำหน้าท้องจึงเสริมสร้างพลังผู้หญิงเช่นนี้ ฉันยังเห็นกลไกส่วนนี้ไม่ชัดเจนได้เหมือนกับที่เห็นกระบวนการเยียวยารักษา ด้วยระบำหน้าท้อง อาจเป็นได้ว่าพลังผู้หญิงนี้เป็นของดั้งเดิมที่ทุกคนมีอยู่แล้วในตัว และจะเปล่งรัศมีออกมาเมื่อศูนย์พลังที่ควบคุมมันอยู่ถูกกระตุ้นขึ้นมาด้วย การเต้นรำ

ท่ามกลางจริตของความขี้เล่น ควบคู่ไปกับความงามและการฝึกสติ การเคลื่อนไหวของระบำหน้าท้องเปิดโอกาสให้คนเต้นรับรู้ลักษณะทางเพศของตัว เอง จึงไม่ปฏิเสธมิติใดๆ ของผู้หญิง ไม่มีตาบูต้องห้าม ไม่เก็บกดอะไรไว้ เรารู้จักกับมัน รับรู้ธาตุแท้ของมัน แล้วเราก็ปล่อยมันไปกับการร่ายรำ

จะด้วยกลไกอะไรก็ตาม ศิลปะของระบำหน้าท้องรวบรวมการเคลื่อนไหวทั้งหลายแหล่ที่เหมาะสมกับร่างกาย และจิตวิญญาณผู้หญิง ต่างจากโยคะบางอาสนะที่เหมาะกับสรีระผู้ชาย หรือบางมิติของมวยจีนซึ่งมีที่มาจากศิลปะป้องกันตัว ทำให้เราห่อตัวเพื่อปกป้องบริเวณอก จึงปิดจักระใจไปบ้าง

ในทางกลับกัน ณ วันนี้ ผู้ชายบางคนเริ่มสนใจเรียนระบำหน้าท้อง และได้อะไรดีๆ จากระบำหน้าท้อง จนกลายเป็นนักเต้นรำที่โดดเด่น เป็นครูระบำหน้าท้องมีชื่อ แต่ก็ยังพบว่าการเคลื่อนไหวบางลีลายากสำหรับสรีระผู้ชาย

ไม่ว่าผู้หญิงและผู้ชายจะเหมือนกันในความเป็นมนุษย์แค่ไหนอย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีอะไรที่ต่างกันมากกว่าเพียงอวัยวะที่ต่างกัน แน่นอนว่า ที่สุดแล้วเราต้องหลุดไปจากการแบ่งแยกทางเพศ และหลอมรวมหยินหยางในตัวให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ก่อนที่ผู้หญิงจะน้อมรับความเป็นชายได้อย่างแท้จริง เธอต้องรู้จักความเป็นหญิงในเบื้องลึกของตัวเองด้วย เมื่อนั้นเธอจึงจะเป็นอิสระ เบ่งบานพ้นกรอบจำกัดเดิมออกไปได้

ผู้หญิงจึงต้องการรู้สิ่งที่ยายของยายของโคตรของยายรู้ ถ้าเรามียายมีแม่คอยช่วยเปิดประตู เราก็ไม่ต้องคอยคลำหาความรู้นั้นเอาเอง

ฉันเริ่มสนใจระบำหน้าท้องตอนดูแลแม่ที่กำลังป่วยหนักเมื่อหลายปีก่อน แม่เป็นโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทาน ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันยังรักษาได้แต่ทางอาการ ฉันจึงค้นคว้าหาการบำบัดทางเลือกอื่นๆ มาเสริม โดยเน้นไปที่การบำบัดทางพลังมากกว่าการบำบัดทางเคมีอย่างการใช้สมุนไพรเพื่อ ไม่ไปรบกวนการรักษาของหมอ ช่วงนั้นฉันอ่านหนังสือแนวนี้นับได้ราว ๘๐ เล่ม จนวันหนึ่งไปเจอเรื่องของระบำหน้าท้องในกองหนังสือลดราคาที่ร้านคิโนคูนิยา ได้แก่ เรื่อง ความลับของย่า ของฟอว์เซียนี่เอง

แน่นอนว่า ระบำหน้าท้องไม่ใช่การบำบัดสำหรับคนป่วยอย่างแม่ แต่ฉันก็สนใจจะลองเอง มาติดที่หาคนสอนไม่ได้อยู่หลายปี จนแม่ตายไปแล้ว ฉันก็ยังสนใจอยู่ - เหมือนกับแม่ได้แง้มประตูเอาไว้ให้แล้ว

จนเมื่อปีกว่ามานี่เองที่ฉันได้ครูสอนประจำ หลังจากที่ครูคนแรก คือ ทาร่า ชาวแคนาดาที่มีเวลาสอนให้แค่ ๒ สัปดาห์ก็หายตัวไปจากกรุงเทพฯ แล้ว คุณบุษกร จันทรวรเมท หรือ แอปเปิ้ล เป็นสถาปนิกสาวสวยน่ารัก จบจากจุฬาฯ และฮาร์วาร์ด ปัจจุบันทำงานอยู่ที่นิวยอร์ก บินสลับไปมาระหว่างสองประเทศ โดยช่วงที่อยู่เมืองไทยจะทำงานส่งบริษัทที่นิวยอร์กผ่านไซเบอร์สเปซ

แต่ชีวิตอีกด้านของคุณเปิ้ลคือการเต้นรำ

จากกิจกรรมอดิเรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน การเต้นรำพัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตอย่างรวดเร็ว ในวันนี้ คุณเปิ้ลเป็นทั้งนักเต้นแสดงและครูสอนเต้นรำอาชีพ รวมตัวกับเพื่อน’ถาปัดจุฬาฯ เปิดโรงเรียนสอนเต้นรำ “รำปุรี” (Rum Puree) มาตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๘ สอนเต้นสารพัดระบำละตินอเมริกา ทั้งซัลซ่า รุมบ้า อาโฟร-แคริบเบียน แอฟริกา รำไทย ฮิปฮ็อป และเต้นฮิปๆ อื่นๆ ระบำเปลื้องผ้าแบบไม่เปลื้องผ้า และแน่นอนว่าระบำหน้าท้อง

ครูเปิ้ลและครูตุ๊กเพื่อนสนิท ฝันอยากพัฒนาวัฒนธรรมทางเลือกเพิ่มขึ้นในสังคมไทย โดยใช้การเต้นรำต่างรากหลากวัฒนธรรมทั่วโลกเป็นเครื่องมือเรียนรู้ ให้คนเมืองได้รู้จักตัวเองและเชื่อมโยงกับผู้อื่น หลุดพ้นออกไปจากสถานะภายนอกในสังคมของตน เป็นความพยายามที่จะสร้างกลุ่มชุมชนสนับสนุนซึ่งกันและกันขึ้นมา มีบทบาทไม่ต่างไปจากวัดในสมัยก่อน

ก็ไม่ทราบว่ากี่ครูจูหลิง กี่นกแต้วแล้วท้องดำ จะต้องสูญหายตายจาก กว่าเราจะตระหนักกันจริงๆ จังๆ ว่า สิ่งท้าทายที่สุดในสังคมโลกศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ การอยู่ร่วมกันระหว่างความหลากหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางความคิด ทางเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรม และสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์

เมื่อถึงย่อหน้านี้ ผู้เขียนก็คงไม่มีความเท่เหลือให้สูญเสียอีกแล้ว จึงพูดออกมาได้อย่างไม่ต้องกลัวความเว่อร์อีกต่อไปว่า ใครถนัดอะไรก็ต้องงัดมันออกมาร่วมสร้างสันติภาพโลก และสำหรับคุณเปิ้ล มันคือการเต้นรำ

คุณเปิ้ลมีชื่อจากการเต้นซัลซ่าเป็นพิเศษ แต่ยิ่งเต้นรำไปเรื่อยๆ เธอกลับบอกว่า ยิ่งชอบระบำหน้าท้องมากที่สุด เพราะยิ่งวันก็ยิ่งค้นพบมิติทางจิตวิญญาณจากระบำหน้าท้องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องห่วง คุณเปิ้ลเป็นคนสนุก และรู้วิธีรับมือกับจริตคนที่หลากหลาย รับประกันไม่มีการเทศนาธรรมในชั้นเรียน หรืออธิบายจิตวิญญาณรำพระแม่ธรณีแบบปัญญาชนคิดมากเกินไปอย่างที่ฉันอธิบายมา เห็นใจหน่อยเถิดโรบิน ฉันไม่มีปัญญาสื่อด้วยรำ จึงจำเป็นต้องพยายามสื่อด้วยคำ ซึ่งจำกัดคับแคบกว่ากันมากนัก

ในชั้นเรียน คุณเปิ้ลจะมุ่งสอนการเต้นตามรากวัฒนธรรมเดิมของรำแต่ละประเภท ไม่ใช่เต้นแบบเอ็มทีวีโดยไม่รู้จักที่มาที่ไปของมันเลย ที่สำคัญ ผู้เรียนจะได้รู้จักเทคนิคพื้นฐานเป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยให้แตกกิ่งก้านสาขาไปกับสไตล์หลากหลาย รายละเอียดลูกเล่น กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ได้ต่อไป และคุณเปิ้ลยังคอยสอดแทรกความรู้ทางวัฒนธรรมของการเต้นแนวต่างๆ ไปด้วยนิดๆ หน่อยๆ เป็นครั้งคราว เป็นคลาสที่สนุก บริหารร่างกายแทบทุกส่วน เหงื่อท่วมตัว แต่ไม่หอบแฮ่กๆ จะเป็นจะตาย ในชั้นจึงมีตั้งแต่เด็กวัยรุ่นเรียนมหาวิทยาลัย สาวทำงานหลากหลายอาชีพ จากดีไซเนอร์ยันนักชีวะและพยาบาล จากวัยเริ่มงานยันผู้บริหารเอ็กเซคูถีบใกล้วัยทอง เข้ามารวมตัวกันเป็นชุมนุมผู้หญิง ที่บางครั้งก็มีผู้ชายเข้ามาเรียน

เป็นอันว่า ฉันเลยได้เรียนรู้ภูมิปัญญาคุณยายจากผู้หญิงรุ่นน้อง ความที่คุณเปิ้ลอยู่ในวงการอินเตอร์ของระบำหน้าท้อง ยังเปิดโอกาสให้พวกเราเหล่านักเรียนได้เรียนพิเศษกับปรมาจารย์รับเชิญอย่าง นิกม่าและเคชีเป็นครั้งคราวอีกด้วย

ด้วยเครือข่ายพี่สาวน้องสาวป้าน้าข้ามเมืองข้ามทะเลแบบนี้ ความรู้ดั้งเดิมของผู้หญิงจึงเริ่มแพร่กระจายออกสู่วงกว้างอีกครั้ง

โกอินเตอร์ เพื่อคืนสู่รากเดิม
จากแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ระบำหน้าท้องได้แพร่กระจายไปสู่ยุโรปและอเมริกาในยุคอาณานิคมฝรั่ง เริ่มตั้งแต่จากสมัยนโปเลียนบุกอียิปต์ ระบำหน้าท้องถูกดึงออกจากบริบทวัฒนธรรมเดิม เอามาขึ้นเวทีแสดง นักเต้นอียิปต์จึงเริ่มปรับลีลาการเต้นให้ถูกใจรสนิยมฝรั่ง พัฒนาเป็นสไตล์ “คาบาเรต์” ฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อผสมผสานกับภาพนางรำฮาเร็มจินตนาการโดยหนังฮอลลีวูด ก็ถูกพัฒนาต่อจนกลายเป็นเอกลักษณ์ระบำหน้าท้องสไตล์อียิปต์ในปัจจุบัน

ในวันนี้ ระบำหน้าท้องกลายเป็นศิลปะมาแรง ที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายหลายประเทศทั่วโลกขวนขวายจะเรียน ไม่ได้ฮ็อตแต่ในยุโรป หากยังฮิตมากในญี่ปุ่น กำลังมาแรงในสิงคโปร์ และเริ่มจุดประกายในจีน

เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ฉันไปเที่ยวอียิปต์ แล้วแวะหาซื้อชุดระบำหน้าท้องที่ตลาดข่านอัลคาลีลีแห่งกรุงไคโร โดยมุ่งดิ่งไปที่ร้านนายมาห์มูดที่มืออาชีพทุกคนต้องแวะดู เพราะเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องเคราระบำหน้าท้องถึง ๔ ชั้น ขณะที่ฉันเอาเสื้อไปลอง สาวรัสเซียนางหนึ่งก็มากวาดชุดสไตล์มีแขนที่ฉันกำลังเลือกหาอยู่ เอาไปหมดทั้งชั้น เพื่อกลับไปขายที่รัสเซีย พอฉันออกมาจากห้องลอง เห็นตู้ว่างก็หน้าตื่นเลิกคิ้วโก่ง นายมาห์มูดแบมือออกทั้งสองข้าง พลางอธิบาย

“เบลลี่ดานซ์มาแรงจริงๆ – เอวรี่แวร์”

แต่ศูนย์กลางระบำหน้าท้องที่ฮ็อตที่สุดในวันนี้ต้องยกให้อเมริกา

ไม่เพียงแค่เพราะประเทศอเมริกาดึงดูดนักเต้นเก่งๆ เข้าไป แต่อเมริกายังได้พัฒนาระบำหน้าท้องแนวใหม่ขึ้นมา เรียกกันว่า American Tribal Style - ระบำหน้าท้องแนวชนเผ่าอเมริกัน

ในที่นี้ “ชนเผ่าอเมริกัน” ไม่ได้หมายถึงชนเผ่าอินเดียนแดง หรือชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการผสมผสานวิถีลีลาระบำหน้าท้องจากหลายเผ่ามาหลอมรวมกัน ทั้งเผ่ายิปซีที่กระจัดกระจายอยู่ในแถบทะเลทรายซาฮารา ดินแดนแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ตลอดจนเผ่าต่างๆ ในอินเดีย เน้นการทรงตัวที่แสดงออกถึงศักดิ์ศรีผู้หญิง กลายเป็นสไตล์ที่รื้อฟื้นภาษากายเก่าแก่ขึ้นมา บางคนจึงตัดคำว่า อเมริกัน ออก และเรียกว่าสไตล์ชนเผ่าเฉยๆ นิกม่า ยอดนางรำระบำหน้าท้องชาวสเปนที่ครูเปิ้ลเชิญมาสอนสไตล์ชนเผ่าให้แก่พวกเรา ทิ้งท้ายก่อนเลิกเรียนไว้ว่า “ฉันเชื่อว่า ในวันนี้ เราได้เข้าไปใกล้ถึงแก่นแท้ดั้งเดิมของจิตวิญญาณพลังผู้หญิงที่เคยถ่ายทอด กันมา” ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัว และมองไปรอบๆ โลก เราจะเห็นลีลาการร่ายรำที่ใช้การหมุนม้วนลำตัวรอบศูนย์พลังท้อง ที่ฟอว์เซียเรียกว่า สะดือแห่งจักรวาล กระจายอยู่ตามวัฒนธรรมชนเผ่าเก่าแก่มากมายหลายแห่ง เช่น ระบำฮูล่าศักดิ์สิทธิ์ของฮาวาย ระบำหมู่เกาะแปซิฟิกต่างๆ เต้นแอฟริกัน และแม้แต่เซิ้งอีสานของเราก็มีแววละม้ายคล้ายระบำหน้าท้องแฝงอยู่นิดๆ ทั้งท่ายักสะโพกและผลักมือ

เป็นไปได้ไหมว่า กาลครั้งหนึ่ง เราต่างเคยรู้จักความรู้เดียวกัน ใช้กุญแจไขกลไกเดียวกัน เพื่อเข้าถึงความจำดั้งเดิมร่วมกันที่ฝังอยู่ในเซลล์

ด้วยพลังหยินและหยางสองขั้วในตัว เราต่างคนจึงมีแรงสร้างสรรค์ตามธรรมชาติ เราโหยหาจะสร้างสรรค์ แต่ในการสร้างกลับมีการทำลายเสมอ จะสร้างวัดก็ระเบิดภูเขาบ้านของค้างคาวมาทำปูน จะเขียนหนังสือหรือวาดรูปก็ต้องตัดต้นไม้มาทำกระดาษ และสกัดแร่มาทำสี

แต่การเต้นรำแทบจะไม่ทำลายอะไรเลย มันเป็นการสร้างสรรค์ที่ไม่ใช้วัตถุดิบ นอกเหนือจากอาหารที่คนเต้นกินเข้าไป เราสร้างเรื่องร่ายรำขึ้นมาจากพื้นที่ว่างรอบตัวเรา เหมือนสร้างปราสาทจากอากาศธาตุ สิ่งเดียวที่เราทำลายคือความเฉื่อยชา

มองในแง่นี้ นักเต้นรำทุกคนก็คือพระศิวะและภารวตี

ขอขอบคุณ : สถาบันปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ
คุณบุษกร จันทรวรเมท กรุณาเป็นแบบถ่ายภาพ
คุณนิรมล มูนจินดา ช่วยอ่านและวิจารณ์ต้นฉบับ



หมายเหตุ : ผู้สนใจเรียนระบำหน้าท้อง (Belly Dance) สามารถติดต่อได้ที่ Rum Puree Dance Studio ชั้น ๕ ตึกอัมรินทร์พลาซ่า ใกล้สี่แยกราชประสงค์ สถานี BTS ชิดลม โทร. ๐๘-๑๔๓๐-๖๖๘๔ (ภาษาไทย), ๐๘-๑๔๓๙-๐๒๐๐ (ภาษาอังกฤษ) เว็บไซต์ www.rumpuree.com



ขอขอบพระคุณ : นิตยสารสารคดี


บทความจาก - นิตยสารสารคดี

- แรกนาขวัญ : สร้างขวัญและกำลังใจชาวไร่ชาวนา

- ความลับของนางระบำหน้าท้อง (ที่เกี่ยวกับพระศิวะ)


- จาริกบุญ ณ ขุนเขาศรีปาทะ ประเทศศรีลังกา

- มองปราสาทหินจากมุมสูง

- พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ กับศรัทธาของผู้สร้าง


---------------- อ่านเรื่ององค์เทพเพิ่มเติม ----------------
หน้าแรก-องค์เทพ (สยามคเณศ)
ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู เทพเจ้าอินเดีย
พระพรหม ท้าวมหาพรหม พระพรหมเอราวัณ ศาลพระพรหม
, พระวิษณุ พระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงครุฑ
นารายณ์ทรงสุบรรณ คาถาบูชาพระนารายณ์สิบปาง

, พระศิวะ พระอิศวร , พระราม รามเกียรติ์ รามายณะ ,
พระกฤษณะ ภควัทคีตา มหาภารตะ ,
ครุฑ พระยาครุฑ พญาครุฑ
วิธีไหว้พญาครุท ตำนานพญาครุท บทบูชาพญาครุท
,
พญานาค พระยานาค วิธีบูชาพญานาค การไหว้พญานาค

พระแม่อุมาเทวี เจ้าแม่อุมาเทวี , พระแม่กาลี เจ้าแม่กาลี ,
พระแม่ทุรคา เจ้าแม่ทุรกา , พระตรีมูรติ การบูชาพระตรีมูรติ
พระแม่ลักษมี เจ้าแม่รัศมี พระนางลักษมี พระลักษมี ,
พระแม่สรัสวตี พระสรัสวดี พระแม่สุรัสวตี พระสุรัสวดี ,
พระขันทกุมาร การบูชาพระขันธกุมาร ,
หนุมาน พระหนุมาน องค์หนุมาน การไหว้หนุมาน ,
พระอินทร์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ท้าวจตุโลกบาล - เทพผู้รักษาประจำทิศ เทพประจำทิศ ,
ท้าวเวสสุวัณ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวกุเวร
พระแม่คงคา แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
, พระแม่ธรณี , พระแม่โพสพ

--------- สถานที่ ศาล เทวาลัย เพื่อกราบไหว้ขอพรองค์เทพ ---------
วัดเทพมณเฑียร วัดเทพมณเทียร , เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า
, วัดวิษณุ ยานนาวา , พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ พิพิธภัณฑ์พระพิฆเณศวร์ เชียงใหม่
,
ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง พระพิฆเณศสี่แยกห้วยขวางรัชดาภิเษก , เสาชิงช้า
,
พระพิฆเนศนครนายก พระพิฆเณศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปางนั่ง-ปูนปั้น)
,
พระพิฆเนศฉะเชิงเทรา พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ปางยืน-สำริด)
วัดพระศรีมหาอุมาเทวี สีลม วัดแขกสีลม นวราตรี งานนวราตรี
เมืองโบราณ สมุทรปราการ , พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร ช้างเอราวัณ สมุทรปราการ
ช้าง 3 เศียร พิพิธภัณฑ์ช้าง 3 เศียร จังหวัดสมุทรปราการ

- พระพิฆเนศ ฉะเชิงเทรา องค์พระพิฆเณศ วัดสมาน จ.ฉะเชิงเทรา
- พระพิฆเนศวร ฉะเชิงเทรา องค์พระพิฆเนศ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ที่วัดสมานรัตนาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
- ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ พระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์
- พระพิฆเนศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ที่อินเดีย อัสตะวินายัก พระพิฆเนศกำเนิดตามธรรมชาติ 8 แห่ง
- รวมรูปองค์เทพ | - รวมสถานที่บูชาองค์เทพ | - รวมความรู้การบูชาองค์เทพ

โครงการ "พันเทวาลัย ล้านศรัทธา"
รวมสถานที่สักการะเทพเจ้าของพราหมณ์ฮินดูทั่วประเทศไทย

ศาลพระพิฆเณศวร์ เทวาลัยพระศิวะ วัดแขก โบสถ์พราหมณ์ เทวสถาน | เทวาลัยพระวิษณุ ศาลพระพรหม วัดแขก พระแม่อุมาเทวี

----------------- เทศกาล งานสำคัญต่างๆ -----------------
- "คเณศจตุรถี" งานแห่พระพิฆเณศวร์ วันคเณศจตุรถี วันประสูติพระพิฆเนศวร์
- "นวราตรี" งานวัดแขก งานแห่พระแม่อุมาเทวี ร่างทรงพระแม่อุมา งานนวราตรี
- "มหาศิวราตรี" เทศกาลมหาศิวาราตรี วันบูชาพระศิวะในงานมหาศิวะราตรี
- "ดีปาวลี" ดีวาลี่ ทีปาวาลี เทศกาลดีปาวาลี งานบูชาพระแม่ลักษมีในงานดีปาวรี
- "พระราชพิธีตรียัมปวาย" งานตรียัมปวาย งานประจำปี เทวสถานโบสถ์พราหมณ์
- โบสถ์พราหมณ์ การเดินทางไปโบสถ์พราหม์ แผนที่โบสถ์พราห์ม
, พระราชพิธีแรกนาขวัญ งานแรกนาขวัญ

[ การบูชาเทพเจ้า ]
- รวมบทสวดมนต์บูชาพระพิฆเนศวร
คาถาบูชาพระพิฆเณศวร์ การไหว้องค์เทพ บูชาเทพ วิธีบูชาองค์เทพ


- ความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับการบูชาเทพ การไหว้เทพฮินดู
- เครื่องหมายโอม...สัญลักษณ์โอม และวิธีการสวดบูชา | - เครื่องหมายสวัสดิกะ...สัญลักษณ์สวัสติกะแห่งพระพิฆเนศ

- สิ่งที่ควรรู้สั้นๆ เกี่ยวกับพระพิฆเนศ การบูชาพระพิฆเณศวร์ | - ตำนานกำเนิดพระพิฆเนศ ประวัติพระพิฆเณศ
- ตำนานว่าด้วยเศียรช้าง งาข้างเดียว และหนูบริวารของพระพิฆเนศ
- ตำนานองค์พระพิฆเนศในเอเชียแปซิฟิก | - ตำนานองค์พระพิฆเนศในประเทศไทย
- พระคเณศ ในฐานะเทพแห่งปัญญาและความรู้ | - พระพิฆเณศในฐานะหัวหน้าบริวารของพระศิวะ
- พรที่พระพิฆเนศได้รับจากมหาเทพ-มหาเทวี | - อานิสงค์จากการบูชาพระพิฆเนศ การขอพรพระพิฆเนศ
- คเณศจตุรถี...วันประสูตรพระพิฆเนศ วันคเนศจตุรถี เทศกาลพระพิฆเนศ งานแห่พระพิฆเณศวัดแขก

- การบูชาพระแม่กาลี (ตามวิธีของ อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย สำนักพิมพ์สยามคเณศ)
- บทสรรเสริญพระศิวะ ผู้คืออักขระ 5 ตัว บทสวดพระศิวะมหาเทพ | - พระแม่ลักษมี 8 ปาง การบูชาพระแม่ลักษมี
- พญาครุฑ การบูชาพญาครุฑ องค์พญาครุฑ | - พญานาค การบูชาองค์พญานาค | - ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวเวสสุวัณ ท้าวจตุโลกบาล
- รูปพระแม่อุมาเทวี องค์พระแม่อุมาเทวี พระศรีมหาอุมาเทวี การบูชาพระแม่อุมาเทวี | - องค์พระตรีมูรติ การบูชาพระตรีมูรติ
- พระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ การบูชาพระวิษณุ องค์พระวิษณุ ปางของพระวิษณุ | - องค์พระแม่ลักษมี รูปพระแม่ลักษมี

- ตำนานพระสีวลี ผู้เป็นเลิศในลาภสักการะ | - พระสีวลีผู้เป็นเลิศในลาภสักการะ | - การบูชาพระสีวลี การขอพรพระสีวลี
- การกำเนิดพระสีวลี โดยการทรงประทานพรของพระพุทธเจ้า | - พระสีวลี หรือ พระสิวลีพระอรหันต์ผู้มีลาภสักการะเป็นที่สุด
- ตำนานพระสีวลี พระสิวลี พระสีวะลี ตำนานกำเนิดพระสีวลี
- พระเกจิ ประวัติพระสงฆ์ หลวงพ่อจรัญ | - การเดินทางไปวัด ขอพรหลวงพ่อ วัดในจังหวัดต่างๆ
- เจ้าแม่กวนอิม องค์เจ้าแม่กวนอิม การบูชาเจ้าแม่กวนอิม พระแม่กวนอิมปางต่างๆ

[ พระศิวะมหาเทพ ]
1. ตำนานพระศิวะ | 2. รูปลักษณ์ แห่งพระศิวะ วิธีบูชาพระศิวะมหาเทพ  |  3. เมล็ดรุทรักษะ เมล็ดน้ำตาพระศิวะ
4. โคนนทิ พาหนะแห่งพระศิวะ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์  |  5. ศิวะนาฏราช พระศิวะร่ายรำ ปางของพระศิวะ
6. ศิวลึงก์ สัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ การบูชาศิวลึงค์  |  7. คาถา บทสวดมนต์ การบูชาพระศิวะ

[ พระประจำวันเกิด , นวนพเคราะห์ ]
พระประจำวันเกิด พระประจำวันอาทิตย์ พระประจำคนเกิดวันอาทิตย์ พระสุริยะเทพ (พระอาทิตย์)
พระประจำวันเกิด พระประจำวันจันทร์ พระประจำคนเกิดวันจันทร์ พระจันทร์ 
พระประจำวันเกิด พระประจำวันอังคาร พระประจำคนเกิดวันอังคาร พระอังคาร ,
พระประจำวันเกิด พระประจำวันพุธ พระประจำคนเกิดวันพุธกลางวัน พระพุธ
พระราหู การไหว้พระราหู วิธีบูชาพระราหู คาถาบูชาพระราหู พระประจำวันเกิด พระประจำคนเกิดวันพุธกลางคืน
พระประจำวันเกิด พระประจำวันพฤหัสบดี พระประจำคนเกิดวันพฤหัสบดี พระพฤหัสบดี
พระประจำวันเกิด พระประจำวันศุกร์ พระศุกร์  , พระประจำวันเสาร์ พระประจำวันเกิด พระเสาร์ , พระเกตุ

รวมโองการเชิญเทพ / บทไหว้ครู / กลอนไหว้ครูของไทย
สำหรับผู้ศรัทธาในเทพทุกระดับชั้น เพื่อการบวงสรวงบูชาเทพในพิธีอันเป็นสิริมงคลต่างๆ
โองการเชิญเทพ - พระราชนิพนธ์ ขอพรพระคเณศ
โองการเชิญเทพ - พระราชนิพนธ์ บทเสมาสามัคคีเสวก
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 1
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 2
เชิญเทพ โดย ขุนสารประเสริฐ 3
นมัสการเทพ (สามัคคีประเภทคำฉันท์)
เชิญเทพ - กรมพระยาเดชาดิศรฯ 1
เชิญเทพ - กรมพระยาเดชาดิศรฯ 2
เชิญเทพ - ร.6 (เสื้อเมือง หลักเมือง)
เชิญเทพ - รัชกาลที่ 6 (ทวยเทพ)
โองการเชิญเทพ - บวงสรวงท้าวโลกบาล
บทอัญเชิญเทพประจำเมือง



อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย
เจ้าของเว็บไซต์สยามคเณศ และ นักเขียนหนังสือองค์เทพ







อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย นักเขียนหนังสือการบูชาองค์เทพ
เจ้าของเว็บไซต์สยามคเณศ Siamganesh.com
ผู้เผยแพร่ความรู้ในการบูชาองค์เทพคนสำคัญของไทย

สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่




สั่งซื้อหนังสือ คลิกที่นี่









สั่งซื้อหนังสือ
ผลงาน อ.พิทักษ์ โค้ววันชัย
คลิกที่นี่



ติดต่อสยามคเณศได้ที่ siamganesh@gmail.com
Facebook : สยามคเณศดอทคอม
Facebook : มหาบูชา

 

ขออำนาจแห่งพระพิฆเนศวรโปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายล้วนประสบแต่ความสำเร็จในทุกๆประการด้วยเทอญ
สงวนลิขสิทธิ์ SiamGanesh.com, All Rights Reserved.